top of page

ไม่มีลิมิตชีวิตเกินร้อย

เราเคยลองจินตนาการดูไหมว่า ถ้าไม่มีข้อจำกัดแล้วชีวิตเราจะเป็นอย่างไร?


เสรีภาพในการเลือกทางเดินของชีวิตจะหอมหวานขนาดไหน? คุ้มค่ากับการก้าวออกจาก comfort zone ที่เราคุ้นชินหรือไม่?เมื่อก้าวพ้นขอบเขตที่เคยชินไปแล้วจะไปเจอกับอะไรบ้าง? มีหลักประกันอะไรพอให้เบาใจได้ไหมว่า สิ่งที่ไปเจอจะไม่พาให้ชีวิตแย่ไปกว่าเดิม?

 

            ข้อจำกัดไม่ต่างจากกุญแจล็อคประตูในชีวิตเรา เมื่อเปิดออกแล้วจะนำเราไปที่ใดก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่ากลัวในเวลาเดียวกัน สิ่งที่จะพบหลังเปิดประตูสามารถเป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยง ทีนี้เราต้องมาสำรวจตัวเองแล้วว่า เมื่อบานประตูเปิดออกแล้ว เราพร้อมที่จะก้าวออกไปจากกรอบเดิมที่เราคุ้นเคยไหม?

           

แน่นอนว่า ราคาที่ต้องจ่ายในการออกจากสภาวะเดิมสู่สภาวะใหม่นั้นมีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นแรงต้านทานจากคนรอบข้างที่ไม่เห็นด้วย การต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ความสะดวกสบายที่ลดลง หรือแม้แต่ความมั่นคงทางการเงินที่อาจจะน้อยลงด้วย หลายสิ่งหลายอย่างที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ ล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้เกิดความกลัวได้

 

            แต่เราเชื่อว่า “ความกล้ามีผลตอบแทนเสมอ” แม้การออกจากข้อจำกัดเดิมและเดินเข้าหาสิ่งใหม่อาจจะมีความเสี่ยง แต่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนก็สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน เมื่อไร้พันธนาการเราอาจจะได้พบความสามารถใหม่ ๆ ของตัวเอง พบความหลากหลายของแรงบันดาลใจ ผู้คนและเนื้องาน และโอกาสที่จะได้รับจากการเปิดตัวเองด้วย รวมถึงการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่เอื้อต่อการเติบโต เปรียบเหมือนกับการได้นำตัวเองออกจากกระถางเก่าที่เล็กเกินไปแล้วไปอยู่ในดินที่มีปุ๋ย และถึงแม้ความกล้าอาจจะไม่ได้พาไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนต้น แต่มันก็จะเป็นบทเรียนให้เราแกร่งขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไป ทำให้เราได้รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นและรับรู้ความยากลำบากของคนอื่น ๆ ได้อย่างแท้จริง เราจะค่อย ๆ กลายเป็นคนที่เข้าใจโลกมากขึ้นผ่านประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งร้ายและดี

 

ถ้ามองในมุมกลับ ความกล้าไม่ได้เพียงแค่ “ให้” อะไรเรา แต่ยังช่วยลดข้อกำจัดในชีวิตอีกด้วย การก้าวพ้นข้อผูกมัดต่าง ๆ ที่จำกัดเสรีภาพในการใช้ชีวิตของเราไม่ได้เป็นแค่เพียง “การเดินเข้าหาสิ่งใหม่” แต่มันคือ “การเดินออกจากสิ่งเก่า” ที่ไม่ตอบโจทย์เราแล้วด้วยเช่นกัน โดยสิ่งเก่าเหล่านั้นอาจจะเป็นความคาดหวังจากครอบครัว ข้อจำกัดทางการเงิน หรือสิ่งแวดล้อมที่บ้านและที่ทำงาน เราได้พบงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากการอยู่ในสภาวะแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่ตอบโจทย์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนในประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี

 

ในปี 2016 มีงานวิจัยที่ได้รับการนำเสนอที่ American Sociological Association ซึ่งรวบรวมสถิติที่เริ่มเก็บข้อมูลคนวัยทำงานมาตั้งแต่ปี 1979 และมีผลงานวิจัย 3 ข้อที่ช่วยสนับสนุนในประเด็นนี้ คือ

(1) ผู้ที่ไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ในช่วงอายุ 25 – 39 ปี มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพในช่วงอายุ 40+ มากกว่าคนกลุ่มที่มีความสุขกับงานที่ตัวเองทำ เช่น ปัญหาการนอน ความเครียด อาการซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เป็นหวัดบ่อย รวมถึงมีอาการปวดหลังด้วย

(2) คนจำนวนมากกว่า 45% ที่ไม่มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ในช่วงอายุ 25 – 39 ปี ก็จะไม่มีความสุขกับมันไปเรื่อย ๆ แม้อายุ 40+ แล้วก็ไม่ดีขึ้น และ

(3) คนที่ทำงานที่ไม่ชอบแล้วกลับมามีความสุขได้ในภายหลังมีเพียง 17% เท่านั้น[1]  

 

ข้อมูลจากงานวิจัยนี้จึงมีส่วนช่วยยืนยันในทางสถิติว่า การอยู่ในภาวะที่เราไม่มีความสุขส่งผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต และที่สำคัญคือ ถ้าวันนี้มันไม่ใช่ โอกาสที่มันจะกลับมาตอบโจทย์ในภายหลังมีน้อยมาก แม้งานวิจัยนี้จะเป็นงานวิจัยที่เก็บสถิติมาจากคนวัยทำงานของสหรัฐฯ แต่เชื่อว่าความรู้สึกของคนทำงานทั่วโลกคงไม่ต่างกันนัก หากใครที่ทำงานประจำคงต้องเคยปรับทุกข์เรื่องหัวหน้า เรื่องตัวงานหรือสุขภาพกายใจที่ถดถอยจากการทำงานหนักกันมาไม่มากก็น้อยทุกคน แต่มีคนไม่มากนักที่จะกล้าฉีกกฎออกมาแม้จะไม่พอใจ เพราะถนนที่คนอื่นไม่ค่อยเดินนั้นมักจะดูรกร้างและยากเย็นกว่าเส้นทางอื่นเสมอ

 

ดังนั้น ถ้ายังไม่แน่ใจในประโยชน์ของสิ่งที่จะได้ไปเจอ และไม่มั่นใจว่าสิ่งใหม่จะดีหรือร้าย แต่เราแน่ใจได้ว่า แค่เดินออกจากสิ่งเก่า แค่นำพลังลบออกไป คุณภาพชีวิตเราน่าจะดีขึ้นในส่วนของสุขภาพ และโอกาสที่จะได้เจอกับสิ่งที่สร้างความสุขให้ชีวิตมีมากกว่าการอยู่ที่เดิมที่เรารู้ทั้งรู้ว่าไม่ใช่คำตอบ  

 

ปัจจัยประกอบในชีวิตของแต่ละคนต่างกัน ต้นทุนมีต่างกัน สภาพแวดล้อมต่างกัน คนรอบตัวต่างกัน ทักษะที่มีก็ต่างกัน ความชอบ และเป้าหมายในชีวิตก็ต่างกัน ฯลฯ มันจึงเป็นการยากที่จะรับรองได้ว่า เมื่อท้าทายกับข้อจำกัดของตัวเองแล้วแต่ละคนจะได้ไปเจอกับอะไร แต่การก้าวออกจากสิ่งที่กดทับเราไว้เป็น “การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ไปเจอสิ่งใหม่” และ “ปล่อยมือจากของเดิมที่ไม่ใช่” ส่วนเราจะรับมือกับสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้อย่างไรให้เป็นผลดีกับเราและเกิดประโยชน์สูงสุดได้นั้น เดี๋ยวเรามาคุยกันต่อในตอนต่อไปค่ะ


ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Комментарии


bottom of page