top of page

โรงเรียนทางเลือก: ทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม

หากย้อนเวลาไปสมัยที่เรายังเป็นเด็กนักเรียนในระบบการศึกษาของไทย เราหลายคนอาจจะมีประสบการณ์ร่วมกันทั้งในส่วนที่น่าประทับใจและในส่วนที่เป็นปัญหาต่าง ๆ ที่ทั้งคุณครูและนักเรียนทุกคนเคยเจอ ยกตัวอย่างเช่น ในเชิงแนวทางการเรียนการสอน ระบบการศึกษาไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมระบบอาวุโสของค่านิยมแบบเอเชีย ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนจึงเป็นไปในเชิงอำนาจแบบ Top Down และแม้ภายหลังจะได้รับอิทธิพลจากปรัชญาการเรียนการสอนจากตะวันตกมากขึ้น ซึ่งมีการส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ ความมั่นใจและการตั้งคำถาม แต่ก็ยังคงการขาดการส่งเสริมความเป็นปัจเจกของผู้เรียน ส่งผลให้เอกลักษณ์ประจำบุคคลของนักเรียนผู้สำเร็จการศึกษาในประเทศไทยมีน้อย


นอกจากนี้ ในบริบทสังคมชนบทของไทย ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรครูและโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถอยู่ในรูปแบบการศึกษาตามมาตรฐานได้ จนสุดท้ายหลายแห่งต้องปิดตัวลง นำไปสู่ปัญหานักเรียนในชนบทต้องเดินทางไกลเพื่อรับการศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่นอกพื้นที่


ปัญหาเหล่านี้มีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศไทยในหลายมิติ จึงไม่มีสูตรสำเร็จเพียงประการเดียวที่จะแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร อย่างไรก็ดี วันนี้ทางมาทิลดาอยากพูดถึง “โรงเรียนทางเลือก” (Alternative School) ว่า เป็นหนึ่งตัวเลือกที่สามารถช่วยคลายปมปัญหาในระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันได้ในหลายแง่มุมด้วยปรัชญาที่ตระหนักถึงความหลากหลายของผู้เรียนและความยืดหยุ่นของหลักสูตรการเรียนการสอน


โรงเรียนทางเลือกคืออะไร...เป็นทางเลือกอย่างไร

โรงเรียนทางเลือกคือ สถานศึกษาที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตั้งอยู่บนปรัชญาการเรียนรู้หรือมีการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างจากแบบแผนของโรงเรียนในระบบการศึกษากระแสหลักทั่วไป ปัจจุบัน มีหลักปรัชญาการเรียนรู้ที่โรงเรียนทางเลือกนำมาใช้ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนอยู่มากมาย เช่น มอนเตสซอริ (Montessori) วอลดอล์ฟ (Waldorf) ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) แนวการสอนแบบพหุปัญญา (Multiple Intelligence) โรงเรียนวิถีพุทธ เป็นต้น


เนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามปรัชญาที่แต่ละโรงเรียนเลือกใช้ แต่จะมีจุดเด่นหนึ่งที่เหมือนกันคือมีความเชื่อว่า “มนุษย์มีความหลากหลาย” การเรียนการสอนจึงต้องมีความหลากหลายตามความเหมาะสม ไม่ยึดติดกับการเรียนการสอนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแต่จะยึดตัวผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะจากความสามารถเฉพาะตัวของนักเรียนแต่ละคนและการลงมือปฏิบัติจริง มากกว่าการท่องจำและการเขียนอ่านที่เราอาจคุ้นเคยจากห้องเรียนในหลักสูตรการศึกษามาตรฐาน


จุดเด่นเหล่านี้เองที่ทำให้ “โรงเรียนทางเลือก” เป็นทางเลือกในการศึกษาที่สามารถช่วยอุดรอยรั่วในการศึกษาขั้นพื้นฐานในกระแสหลักได้ โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมความเป็นปัจเจกของผู้เรียน เนื่องจากการใช้ผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลางและเป็นตัวนำในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน เป็นการปรับการสอนให้เข้ากับผู้เรียน ไม่ใช่การหล่อหลอมผู้เรียนที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทางวิชาการและความสนใจ ให้เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนเพียงหนึ่งเดียว การศึกษาทางเลือกจึงเป็นเส้นทางการเรียนรู้ที่ปรับให้ตรงกับจริตผู้เรียนได้มากที่สุด เมื่อผู้เรียนไม่ต้องปรับตัวตนเพื่อให้เข้ากับโรงเรียน ความเป็นปัจเจกของผู้เรียนจึงไม่จางเลือนหายไปในระหว่างการเรียนรู้


โรงเรียนทางเลือกยังสามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรและจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่เพียงพอได้อีกด้วย โดยที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ระบุรับรองการจัดการศึกษาทางเลือกในไทยว่า “นอกเหนือจากรัฐ...ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงสอดคล้องกับมาตรา ซึ่งระบุประเภทสถานศึกษาที่จัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐานได้” ทำให้ชุมชนขนาดเล็กที่แม้มีจำนวนบุคลากรครูและนักเรียนไม่เพียงพอที่จะเป็นโรงเรียนได้ตามหลักเกณฑ์ของการเป็นโรงเรียนในกระแสหลัก สามารถเปิดศูนย์การเรียนรู้สำหรับลูกหลานในชุมชนได้เอง โดยเด็ก ๆ ไม่ต้องเดินทางไกลออกนอกชุมชมเพื่อรับการศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่นอกพื้นที่ “ศูนย์การเรียนรู้บ้านห้วยพ่าน” ที่ทางมาทิลดาหยิบยกมาเล่าเสมอ ๆ ก็เป็นตัวอย่างของการที่โรงเรียนทางเลือกเป็นทางออกในการมอบการศึกษาให้กับลูกหลานของชุมชนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลเช่นกัน


ทางเลือกที่จำเป็นและไม่ควรมองข้าม

            โรงเรียนทางเลือกอาจไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกเสริมนอกเหนือจากแนวทางหลักในระบบการศึกษาไทยเท่านั้น แต่อาจเป็นทางเลือกที่จำเป็นและไม่ควรมองข้ามสำหรับสังคมไทย โดยที่ความหลากหลายในการศึกษาไม่ได้มีเพียงความหลากหลายของตัวผู้เรียน แต่ยังมีความหลากหลายด้านข้อจำกัดและความต้องการของแต่ละชุมชนอีกด้วยที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งในหลายกรณีได้กลายมาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาตามมาตรฐานของนักเรียน ดังนั้นการศึกษาด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนเพียงรูปแบบเดียวอาจไม่สามารถตอบโจทย์ทุกคนในทุกพื้นที่ได้ทั้งหมด ตัวเลือกอื่นที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าจึงมีความจำเป็น


            นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยากของโลกในยุคปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและโครงสร้างทางสังคม ทำให้การศึกษาในรูปแบบเดิมที่เน้นการท่องจำหรือการคิดวิเคราะห์โดยไม่เน้นความเป็นปัจเจก อาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกในอนาคตที่ทักษะพื้นฐานเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ


            ทางมาทิลดาเห็นความสำคัญของการมี “ทางเลือก” โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจนกลายมาเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้เรียนหรือชุมชน และเห็นว่า ความต้องการของโลกในอนาคตต้องอาศัยการศึกษาที่ส่งเสริมความเป็นปัจเจกเพื่อส่งเสริมจุดเด่นของผู้เรียนให้มากที่สุดเพื่อการแข่งขันในตลาดการทำงานและการดำรงชีวิตในระดับโลก และเห็นว่า “ปรัชญาที่โรงเรียนทางเลือกต่าง ๆ เลือกใช้” เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับระบบการศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมเยาวชนไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพในสังคมโลกาภิวัตน์ที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อไป




ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page