top of page

เงินกู้เพื่อการศึกษา ไม่ใช่ “หนี้” แต่เป็น “การลงทุน”

อัปเดตเมื่อ 9 ม.ค.

“คุณเคยคิดจะกู้เงินเพื่อการศึกษาไหม?”

ถ้าเคย.... เพราะเหตุผลใด?

ถ้าไม่เคย... เพราะเหตุผลใด?

 

ลองเก็บคำตอบต่อคำถามนี้ไว้ในใจก่อนนะคะ

 

อันที่จริงแล้ว การกู้เงินเพื่อการศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่กองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษา (กยศ.) ถูกจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2538 และเริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2539 ดังนั้น ประเทศไทยนับว่า มีการกู้เงินเพื่อการศึกษาอย่างเป็นทางการมาแล้วเกือบ 30 ปี

 

อย่างไรก็ดี จากจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทยในปี 2565 ซึ่งมีประมาณ 1.3 ล้านคน มีเพียง 2.8 แสนคนเท่านั้นที่กู้เงินเพื่อการศึกษาผ่าน กยศ. โดยคิดเป็นเพียง 21.5% ของนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่า “การกู้เงินเพื่อการศึกษาในประเทศไทยยังไม่ใช่ทางเลือกของนักศึกษาระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ของประเทศ” และที่น่าสนใจคือ มีนักเรียนที่เรียนจบระดับมัธยมปลายเพียง 28% เท่านั้นที่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แม้ว่าเหตุผลในการไม่เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่เรื่องค่าใช้จ่ายและสถานะทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญอย่างแน่นอน โดยเห็นได้จากรายงานวิเคราะห์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคมซึ่งระบุว่า “นักศึกษาในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้นน้อยลง และมีโอกาสในการหลุดนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นจากปัญหาทางเศรษฐกิจ”

 

จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ในเมื่อนักศึกษาส่วนหนึ่งในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และประเทศไทยมีกองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษาอยู่เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ แต่เหตุใดการกู้เงินเพื่อการศึกษาจึงไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากมุมมองของนักเรียนนักศึกษาในหลาย ๆ ประเทศที่มองว่า การกู้เงินเพื่อการศึกษาเป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิ์และสวัสดิการที่รัฐต้องมีให้แก่ประชาชน และเป็นทางเลือกของคนจำนวนมาก มูลนิธิมาทิลดามองว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาในประเทศไทยอาจอยู่ที่ “ทัศนคติ” ซึ่งยังคงคิดว่า “การกู้” คือ “การก่อหนี้” “เป็นทางเลือกเฉพาะสำหรับคนยากจน” หรือไม่ได้มองการศึกษาว่าเป็นการลงทุนหรือตัวช่วยยกระดับฐานะทางด้านอาชีพและสังคมที่จะช่วยให้สามารถก้าวข้ามกับดักทางชนชั้นได้จริง

 

เงินกู้เพื่อการศึกษา: นโยบายส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงที่เป็นสากล

เงินกู้เพื่อการศึกษาหรือ Student Loan เป็นหนึ่งในนโยบายมาตรฐานของหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยนอกเหนือจากจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้รับแล้ว เงินกู้เพื่อการศึกษายังเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของประเทศนั้น ๆ เพราะประชาชนที่มีความรู้ มีทักษะ มีวุฒิการศึกษา ฯลฯ นับเป็นทรัพยากรที่มีค่าไม่ว่าสำหรับประเทศใด เพราะมีแนวโน้มที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นวัตกรรม และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น ๆ ได้มาก นอกจากนี้ โครงการเงินกู้เพื่อการศึกษายังสามารถเป็นเครื่องมือในการผลิตบุคคลากรที่ตรงตามความต้องการของตลาดได้อีกด้วย โดยออกแบบโครงการเงินกู้เพื่อสนับสนุนการศึกษาต่อในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาของประเทศ เช่น สาขา STEM เป็นต้น

 

ตัวอย่างโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาในต่างประเทศ

ประเทศ

เงินที่กู้ได้

ดอกเบี้ย

การใช้คืน

สหรัฐฯ

สถาบันการศึกษาเป็นผู้กำหนดว่าสามารถกู้เงินเพื่อการศึกษาได้เป็นจำนวนเท่าใด

2.75% - 5.3% ขึ้นอยู่กับประเภทเงินกู้และระดับการศึกษา

ระยะเวลาใช้คืนประมาณ 10 ปี และสามารถยืดระยะเวลาการใช้คืนเป็น 25 ปีได้สำหรับ Extended Repayment Plan

สหราชอาณาจักร(อังกฤษ)

จำกัดเพดานเงินกู้ที่ไม่เกิน £9,250/ปี (อ้างอิงข้อมูลปี ค.ศ. 2023 – 2024)

ไม่เกิน 7.3% โดยคิดตามรายงาน Retail Price Index

เริ่มชำระคืนเมื่อมีรายได้อย่างน้อย £423/สัปดาห์ หรือ £1,834/เดือน หรือ £22,015/ปี

ออสเตรเลีย

จำกัดเพดานเงินกู้ที่ไม่เกิน 113,028 AUD สำหรับสาขาวิชาทั่วไป และ 162,336 AUD สำหรับสาขาวิชาแพทย์ ทันตแพทย์ สัตว์แพทย์ หรือสาขาการบินบางวิชา

0%

เริ่มชำระคืนเมื่อมีรายได้อย่างน้อย $51,550/ปี (ข้อมูลปี ค.ศ. 2023-2024) โดยเงินที่จะต้องคืนในแต่ละงวดจะแปรผันเพิ่มตามจำนวนรายได้

นิวซีแลนด์

ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา +ค่าครองชีพ

0% หากอยู่ที่นิวซีแลนด์หลังเรียนจบ และ 2.9%หากไม่อยู่ในประเทศ

เริ่มชำระคืนเมื่อมีรายได้อย่างน้อย $22,828/ปี หรือ $439/สัปดาห์

 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า โครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาของแต่ละประเทศมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายที่สามารถกู้ได้ เงื่อนไขในการชำระคืน ฯลฯ อย่างไรก็ดี โครงการเงินกู้ฯ ของทุกประเทศจะตอบโจทย์ในการเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ และผลิตบุคคลากรที่เป็นที่ต้องการของตลาดตามที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้

 

นอกจากนี้ การเลือกกู้เงินเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยยังเป็นทางเลือกที่เป็นที่นิยมพอสมควรในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ กว่า 42% ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐและกว่า 68% ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนเลือกกู้เงินเพื่อการศึกษา และมีนักศึกษาในอังกฤษเลือกกู้เงินเพื่อการศึกษาประมาณ 1.3 - 1.5 ล้านคนทุกปี (มีนักศึกษาประมาณ 2 ล้านคน/ปี) นอกจากนี้ ในปัจจุบัน หน่วยงานผู้มอบเงินกู้เพื่อการศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่หน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมก็สามารถเป็นผู้มอบเงินกู้เพื่อการศึกษาได้ เช่น ธนาคารเอกชน บริษัทเอกชน หรือมูลนิธิต่าง ๆ ซึ่งมูลนิธิมาทิลดาเองก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนการศึกษาในรูปแบบเงินกู้เพื่อการศึกษาเช่นกัน

 

เงินกู้เพื่อการศึกษาในมุมมองใหม่: ไม่ใช่ “หนี้” แต่เป็น “การลงทุน” 

เหตุผลที่การกู้เงินเพื่อการศึกษาในประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยมนัก อาจมีส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติในประเทศไทยที่มองว่า “การกู้เงิน” คือ “การก่อหนี้” การกู้เงินเพื่อการศึกษาจึงอาจถูกมองว่าเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้คนที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว จึงไม่ถูกมองเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมา

 

แต่ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาคือ การศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเป็นทั้งการลงทุนของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และเป็นการลงทุนในตัวเองของบุคคลด้วยเช่นกัน การมองเพียงผิวเผินว่าการกู้เงินเพื่อการศึกษาเป็นเพียง “หนี้” เป็นการมองข้ามประโยชน์ของการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการทำงานโดยการใช้ความรู้ ทักษะ และวุฒิการศึกษาที่จะได้รับจากการศึกษา เงินกู้เพื่อการศึกษาจึงไม่ได้เป็นการก่อหนี้โดยไร้ประโยชน์ แต่เป็นการลงทุนเพื่อที่จะได้มาซึ่งรายได้ที่สูงขึ้น เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยให้ก้าวข้ามผ่านกับดักชนชั้นได้

 

หากมองให้ลึกลงไป ทางเลือกต่าง ๆ ในชีวิตมีข้อผูกมัดและมีเงื่อนไขเฉพาะตัวเสมอไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด การเลือกรับทุนการศึกษามักมาพร้อมข้อผูกมัดเกี่ยวกับสถานที่ทำงานหรือวิชาที่เรียน การไม่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยก็มาพร้อมราคาค่าเสียโอกาสที่ต้องสูญไป การเลือกกู้เงินเพื่อการศึกษาก็มาพร้อมเงื่อนไขการชำระเงินคืนในเวลาอันเหมาะสม เมื่อมองการศึกษาต่อเป็นสิทธิมาตรฐานที่พึงมี เป็นการลงทุนในศักยภาพของตัวเอง และเป็นเครื่องมือที่จะทำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น การกู้เงินเพื่อการศึกษาก็เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนให้เป้าหมายด้านการศึกษาบรรลุได้เช่นกัน โดยเป็นทางเลือกที่เป็นเรื่องปกติสามัญของนานาประเทศ มิได้เป็นทางเลือกที่น่าอายหรือมีความเสี่ยงสูงกว่าทางเลือกอื่น ๆ แต่อย่างใด

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.            โครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาในประเทศไทย https://www.studentloan.or.th/th/aboutus

3.            การประเมินผลกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา https://searchlib.utcc.ac.th/library/onlinethesis/263850.pdf

4.            รายงานสถิติจำนวนนิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) ในระบบโรงเรียนของประเทศไทย จำแนกตามสังกัด หลักสูตรและชั้น https://gdcatalog.go.th/dataset/gdpublish-dataset-15_20

5.            “เพราะยากจนจึงไม่ได้เรียนต่อ สำรวจอัตราการเข้าเรียนของเด็กไทย https://workpointtoday.com/educational-inequality-2/

6.            รายงานวิเคราะห์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=11972

7.            Percentage of students attending 2-year and 4-year institutions who have student loans in the United States 2019/20 https://www.statista.com/statistics/237883/percentage-of-us-students-with-student-loans-by-institution-type/

8.            Student Loan Statistics (England) https://commonslibrary.parliament.uk/research-briefings/sn01079/

9.            Higher Education in Numbers (England) https://www.universitiesuk.ac.uk/latest/insights-and-analysis/higher-education-numbers

10.        ข้อมูลเงินกู้เพื่อการศึกษาในอังกฤษ https://www.bbc.com/news/education-62241512 และhttps://www.gov.uk/student-finance

11.        ข้อมูลเงินกู้เพื่อการศึกษาในสหรัฐฯ https://studentaid.gov/

12.        ข้อมูลเงินกู้เพื่อการศึกษาในออสเตรเลีย https://www.studyassist.gov.au/help-loans

13.        ข้อมูลเงินกู้เพื่อการศึกษาในนิวซีแลนด์ https://www.studylink.govt.nz/products/a-z-products/student-loan/index.html

 

 

 

 

 

 

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Комментарии


bottom of page