การคัดเลือกผู้รับทุนเงินกู้โครงการ Break Your Boundary (BYB) ประจำปี 2567 ได้เสร็จสิ้นลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ต้อนรับ “มาร์ค นิธิกุลตานนท์” ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาทันตแพทยศาสตร์ในสาขาวิชา Advanced Education in General Dentistry Residency Program และ Master of Science in Dental Sciences Program อยู่ที่ University of Rochester Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสมาชิกครอบครัวมาทิลดาอีกคนในปีนี้
มูลนิธิมาทิลดามีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมโอกาสในการเรียนต่อต่างประเทศผ่านโครงการเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย BYB ในแต่ละปีผู้ที่ได้รับคัดเลือกมีความโดดเด่นเป็นตัวของตัวเองในขณะที่ยังคงมีแก่นสำคัญที่มูลนิธิฯ มองหา สำหรับมาร์ค ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกในปี 2567 นี้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนความหลากหลายของมาทิลดา เพราะมาร์คมีเรื่องราวที่ไม่เหมือนผู้ที่ได้รับคัดเลือกคนใดในปีที่ผ่าน ๆ มา และนับได้ว่า “เป็นคนแรก” ของ BYB ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อตรงสายและในส่วนของ timeline ที่เริ่มเรียนก่อนที่จะมาสมัครขอรับทุนเงินกู้กับ BYB เป็นต้น
มาร์คพูดเสมอว่า “ผมก็เป็นนักเรียนธรรมดา ๆ” และ “ผมก็เป็นหมอฟันธรรมดา ๆ” แต่จากการที่มูลนิธิ
มาทิลดาได้พูดคุยกับมาร์ค เราค้นพบความไม่ธรรมดาในความธรรมดาของมาร์ค ในการอ่านบทสัมภาษณ์นี้ เราจึงอยากให้ทุกท่านได้เห็นสิ่งเหล่านี้ในตัวมาร์คเช่นกัน เช่น “ความรู้จักตัวเอง” (Mindfulness) “ความกระหายอยากจะเติบโต” (Thirsty) ความกล้าออกจากกรอบที่เป็น Comfort Zone ของตัวเองเพื่อสิ่งที่พิจารณาแล้วว่า “คุ้มค่า” ซึ่งเป็นความกล้าที่มีความมุ่งมั่น (Determined) และข้อมูลที่ขวนขวายหามา (Inquisitive) เป็นสิ่งสนับสนุน
ไปทำความรู้จักเรื่องราวของมาร์คกันค่ะ
Mindful - รู้จักตัวเอง
คำถาม: แนะนำตัวเองหน่อยค่ะ
มาร์ค: ผมเป็นลูกชายคนเล็ก จากครอบครัวลูกสี่คน คุณแม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ก่อนที่ผมจะมาเรียนที่สหรัฐฯ ผมทำงานเป็นทันตแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดอุดรธานี ชื่อ “โรงพยาบาลบ้านผือ” ผมทำงานที่โรงพยาบาลนี้ตั้งแต่ผมเรียนจบจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลยครับ ที่ต้องไปอุดรธานีเพราะตามปกติแล้วถ้าเรียนจบจากมหาวิทยาลัยของรัฐก็จะต้องไปทำงานใช้ทุนอย่างน้อย 3 ปี ผมก็ไปอุดรธานี อยู่ไปอยู่มาสุดท้ายก็ตัดสินใจอยู่ต่อที่โรงพยาบาลบ้านผือถึงประมาณ 4 ปี
ทำไมตอนนั้นตัดสินใจอยู่ต่อ?
การไปทำงานที่โรงพยาบาลบ้านผือให้อะไรกับผมหลายอย่าง บ้านผืออยู่ห่างออกจากตัวเมืองอุดรไปประมาณ 1 ชั่วโมง แต่บรรยากาศโดยรอบก็ห่างไกลจากความเป็นเมืองเยอะ มันเปิดโอกาสให้ผมได้ทำสิ่งที่อาจจะไม่ได้ทำถ้าอยู่ในเมือง เนื่องจากเป็นการทำงานในโรงพยาบาลชุมชน มีปริมาณคนไข้จำนวนมากเลยได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะการทำหัตถการในหลายๆด้าน รวมถึงได้มีโอกาสนำทีมร่วมกับ
ทันตาภิบาลและผู้ช่วยขนเก้าอี้สนามและให้การรักษาตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่าง ๆ ที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลด้วยครับ
นอกจากนี้ช่วงโควิดที่บุคลากรในแผนกอื่นไม่พอ ผมได้อาสาเพื่อไปสวอปในตู้ความดันลบและเตรียมวัคซีน เป็นประสบการณ์ที่สนุกและประทับใจมากๆ ครับ เนื่องจากสังคมเพื่อนร่วมงานที่ดีถึงแม้จะร้อนและลำบากแต่ก็รู้สึกสนุกในทุกวันๆ ครับ
ปกติทำอะไรเวลาว่าง
ผมชอบทำขนม ผมเป็นคนชอบใช้มือ แล้วก็ชอบอะไรที่ต้องใช้ความละเอียดประณีตเวลาทำ ผมชอบทำของหวานเพราะมันได้ตรงนั้นทั้งหมด ทำแล้วก็เอาไปแจกคนที่โรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ผมก็ชอบเล่นเปียโนด้วยครับ
Inquisitiveness – ไขว่ขว้าหาคำตอบ
คำถาม: เล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้นของการไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ หน่อยได้มั้ยคะ
มาร์ค: มีวันนึงที่ผมได้ไปอ่านเรื่องราวของพี่ทันตแพทย์ท่านหนึ่ง ที่เล่าประสบการณ์การไปตั้งรกรากเป็นหมอฟันที่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะได้อ่านผมรู้สึกว่าการเป็นหมอฟันในสหรัฐฯ ดูเป็นเรื่องไกลตัวมากเลยทั้งทางด้านการเงินและหนทางการใช้ชีวิต ในโพสพี่เขาเขียนเล่าตั้งแต่ต้นเลยว่า เขาเป็นใครมาจากไหน เรียนจบที่ไหนมา ตัวพี่เขาเองที่เป็นผู้หญิงคนเดียว มาเอง และไม่ได้มี support จากครอบครัวเลยก็ยังสามารถทำได้ ผมอ่านแล้วรู้สึกสนใจ เลยส่งข้อความไปหาเพื่อปรึกษาและตัดสินใจเอาเงินเก็บบินมาขอดูงานที่คลินิคพี่เขาที่สหรัฐฯ เป็นเวลาสองเดือน ประสบการณ์นี้ทำให้ผมมองเห็นความเป็นไปได้และมั่นใจมากขึ้น
มาถึงตอนนี้รู้สึกว่าตอนนั้นคุ้มไหม
มาร์ค: ตอนนั้นที่มาผมวางแผนให้เป็นทริปที่มีเป้าหมายหลายอย่าง มีทั้งการมาเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพ
ทันตกรรมภาคภาคทฤษฎีของอเมริกาให้ผ่าน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการสมัครเรียนและสามารถสอบได้ในอเมริกาเท่านั้น แต่สำคัญที่สุดเลยคือสร้างความมั่นใจให้กับการลงทุนกับอนาคตของตัวเอง การที่ได้คุยกับผู้ที่มีประสบการณ์ และได้มองเห็นว่าปลายทางจะเป็นยังไง มันทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราพร้อมที่จะรับความเสี่ยงและเดินต่อ มีแรงบันดาลใจและความมั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นี่มันเป็นไปได้
ในตอนนั้นผมรู้สึกว่าผมหาโมเดลที่ผมสามารถทำได้พบแล้ว สิ่งต่อมาที่ยากคือการจะทำอย่างไรให้ได้รับคัดเลือกเข้าเรียน เนื่องจากในปีที่ผมสมัครนั้น มีผู้สมัครกว่า 700 คน แต่ทางหลักสูตรรับเพียง 12 คนเท่านั้น หลังจากกลับมาไทยผมก็ทั้งทำงานและเตรียมตัวสมัครเรียน ทำเอกสารต่าง ๆ อย่าง CV และ SOP และสอบ TOEFL ไปด้วย ถือเป็นช่วงที่หนักและเหนื่อยมาก แต่ผมเชื่อว่าถ้าพยายามเต็มที่ให้ถึงที่สุด ผมก็น่าจะสำเร็จได้เช่นกัน และเมื่อมาเรียนแล้วก็พบว่าเพื่อนร่วมคลาสของผมที่นี่ส่วนมากก็มีครอบครัวมีลูกแล้ว และเพื่อการสร้างชีวิตที่นี่เขาต้องกู้เยอะมาก ผมก็เคยถามเพื่อน ๆ ว่า “ทุกคนกังวลไหม” แต่ทุกคนก็มีความมั่นใจว่าถ้าเรียนจบยังไงก็มีงานและสามารถคืนทุนได้อย่างรวดเร็ว ความเชื่อมั่นของทุกคนก็เพิ่มความมั่นใจให้ผม ที่นี่ทุกคนที่มาเรียนจะมี Goal เดียวกัน เพื่อน ๆ ก็ช่วยเหลือกันพอสมควรครับ
คำถาม: มาเรียนแล้วเป็นไงบ้างคะ
มาร์ค: จริง ๆ แล้วก็มี Culture Shock อยู่บ้างเหมือนกันครับ วัฒนธรรมอเมริกันจะมีการบริการที่มีความตรงไปตรงมามาก อาจจะไม่ Service Mind มากเท่าคนไทย จะมีความเป็นธุรกิจมากขึ้น ดังนั้นเวลาเรียนนอกเหนือจากเรื่องการรักษาแล้วอาจารย์จะสอนให้คิดถึงการรักษาตามแผนประกันสุขภาพของคนไข้ และมองเรื่องการดำเนินธุรกิจของคลินิคหรือโรงพยาบาลด้วยซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีการสอนในชั้นเรียนที่ไทย
ส่วนเรื่องการเรียนการสอนด้านวิชาการจะค่อนข้างคล้ายที่ไทยเลย เพราะการเรียนของไทยก็มาจาก Textbooks ของสหรัฐฯ ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก ที่ต่างกันก็จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีละอุปกรณ์ของสหรัฐฯ ที่จะมีความก้าวหน้าและไปเร็วมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ที่ไทยจะใช้เครื่องมือเดียวในการทำทุกอย่าง แต่ว่าที่สหรัฐฯ ฟันคนละซี่ก็ใช้เครื่องมือคนละแบบแล้ว จะละเอียดมากเลยแม้กระทั่งเครื่องมือเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งส่งผลต่อค่ารักษาที่สูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับในไทย และที่สหรัฐฯ มีการใช้ Digital Dentistry หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการทำทันตกรรมมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว เช่น การทำรากเทียมที่สหรัฐฯ กว่า 90% ก็จะเป็นดิจิตอลหมดเลย แต่ในไทยเพิ่งเริ่มมีใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
Thirsty – ปรารถนาจะเติบโต
คำถาม: มาร์คเคยจินตนาการมั้ยว่า ถ้าเราไม่ได้มาเรียนต่อที่สหรัฐฯ ชีวิตเราจะเป็นยังไง แล้วทำไมเราถึงคิดว่าชีวิตแบบนั้นไม่ตอบโจทย์สำหรับเรา
มาร์ค: ถ้าไม่ได้มาที่นี่ ผมก็คงเป็นหมอฟันทั่วไป เรื่องการเงินก็คงไม่ได้มีปัญหา มันก็คงมั่นคงอยู่ได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าปัจจุบันการแข่งขันในอาชีพสูงขึ้น ปริมาณหมอฟันเริ่มล้นตลาดในกทม แล้วก็คิดว่าน่าจะมีโอกาสที่จะโตได้มากขึ้นในอเมริกาในด้านอื่นๆด้วย ได้เรียนรู้โลกกว้างขึ้น เป็น milestone ในชีวิตที่น่าจะคุ้มค่ามาก
จริง ๆ ผมชอบทำงานในโรงพยาบาลชุมชนมาก ๆ เลยนะครับ ผมก็เลยอยู่ต่อถึงสี่ปีทั้งที่จริง ๆ ผมทำงานใช้ทุนแค่สามปีก็พอแล้ว ที่ชอบเพราะมันเป็นการทำงานที่ไม่ต้องคิดถึงเรื่องเงิน รักษาคนไข้ด้วยสิทธิ์ 30 บาท และผมได้เจอเคสที่หลากหลาย แต่ผมมองภาพไม่ออกว่า ถ้าผมอยู่ที่เดิมต่อไปเรื่อย ๆ สิบปี ยี่สิบปี มันจะไปได้ไกลกว่านี้ได้ยังไง
Determined - มุ่งมั่น
คำถาม: ตอนนั้นมาร์คตอบรับการเรียนต่อตั้งแต่ก่อนได้รับคัดเลือกทุนเงินกู้ BYB แสดงว่าตอนนั้นก็ทำใจไว้แล้วใช้มั้ยคะว่า “กู้ก็กู้วะ”
มาร์ค: ใช่ครับ มันเป็น priority ของผมเลยว่า “ผมต้องมาเรียนต่อ” เรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ตามมาที่ผมต้องวางแผนรับผิดชอบหามาให้ได้
คำถาม: จากที่เราคุยกับทั้งตอนที่สัมภาษณ์ทุนเงินกู้และตอนนี้ มาร์คก็แสดงออกชัดเจนว่า จริง ๆ แล้วเป็นคนไม่ชอบความเสี่ยง ดังนั้นอะไรที่ทำให้ตอนนั้นมั่นใจในการเดินทางมาเรียนทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีความแน่นอนเรื่องค่าใช้จ่ายคะ ตอนนั้นดีเบทกับตัวเองยังไง ทำไมถึงเอาชนะความกลัวตรงนั้นได้
มาร์ค: ผมก็ยังมีความกลัวและความไม่แน่ใจที่ผมต้องเอาชนะอยู่ครับ เพราะโลกนี้มันไม่ได้มีอะไรที่
เพอร์เฟคหรือแน่นอนได้ขนาดนั้น แต่การเห็นตัวอย่างจากพี่แอน (พี่ทันตแพทย์ที่เป็นแบบอย่าง) ที่เขาเดินนำในเส้นทางนี้มาก่อนให้ผมเห็นความเป็นไปได้ การรีเสิชข้อมูลเองเพิ่มเติมประกอบด้วยก็ช่วยให้ผมมั่นใจขึ้นได้ และเพื่อนหลาย ๆ คนที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนของผมส่วนใหญ่มีครอบครัวและกู้เงินเรียนเป็นจำนวนที่เยอะมากกว่าผมอีก ขนาดคนที่ภาระเขาเยอะกว่าผมมาก เขายังไม่กังวลเลย เพราะหลังเรียนจบ ทุกคนที่นี้ล้วนมีรายได้และชีวิตที่ดีจากการทำงานในฐานะทันตแพทย์ในอเมริกาได้ครับ
Accountability – รับผิดชอบและมีแผนการคืนเงินที่ชัดเจน
คำถาม: ทำไมถึงคิดว่ามาทิลดาตอบโจทย์เรา
มาร์ค: ผมคิดว่ามันเป็นตัวเลือกทางการเงินที่ดีมากสำหรับคนที่รู้ว่าอนาคตว่าจะมีรายได้ประมาณเท่าไหร่และสามารถคืนเงินได้ประมาณไหน ถ้าเทียบกับเด็กอเมริกันซึ่งยังต้องกู้ Federal Loan เพื่อเรียนหมอฟัน โดยค่าเฉลี่ยแล้ว dental student loan ในปัจจุบันอยู่ที่ 300,000 ดอลลาร์ บางมหาวิทยาลัยอย่างที่ NYU อาจจะขึ้นไปถึง 600,000 ดอลลาร์ ซึ่งถ้าผมจะกู้ต้องไปกู้ private loan เพราะไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกัน ก็อาจจะมีตัวเลขที่สูงกว่านี้ขึ้นไปอีก ผมเลยรู้สึกว่าทุนเงินกู้ที่ไม่มีดอกเบี้ยจากมาทิลดาตอบโจทย์ผมมากที่สุด
คำถาม: ถ้าให้แนะนำคนที่สนใจโครงการ BYB มาร์คจะแนะนำอะไรคะ
มาร์ค: หลัก ๆ คือต้องมีแพลนชัดเจนว่า “เรียนต่อแล้วจะยังไง” เพราะสุดท้ายมันก็คือเงินกู้ที่ต้องคืน ดังนั้น ผมคิดว่ากรรมการต้องการความมั่นใจว่า Candidate จะสามารถคืนเงินได้ ในการเตรียมตัวผมเลยต้องมั่นใจกับ Career ของผมในอนาคตก่อน และตอนสัมภาษณ์ผมให้ความสำคัญกับการทำให้กรรมการเห็นความมุ่งมั่นชัดเจนของผมว่า ตามแผนการเรียนและการทำงานของผมที่วางไว้ ผมสามารถจ่ายเงินคืนได้ยังไง
การเห็นอนาคตที่ชัดเจนจากตัวอย่างที่ผมได้เห็น และความมั่นใจว่าผมอยากจะทำอะไรในอนาคต ทำให้ผมสามารถที่จะกล้าวางแผนจ่ายเงินคืนเชิงรุกได้ ผมอยากส่งต่อให้ BYB รุ่นถัดไปให้เร็วที่สุด ด้วยจำนวนเงินที่ผมสามารถจ่ายได้มากที่สุดโดยที่ไม่ลำบากเกินไปนัก เลยอยากให้คนที่จะมาสมัคร ศึกษาข้อมูลให้มากพอ ทั้งจากผู้มีประสบการณ์ และจากการรู้จักตัวเอง
มูลนิธิมาทิลดาคิดว่า เรื่องราวของมาร์คเป็นเรื่องราวของการส่งต่อพลังแห่งความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็นพี่แอน ทันตแพทย์ผู้เป็นต้นแบบส่งต่อความเชื่อให้ทันตแพทย์รุ่นน้องในประเทศไทยมองเห็นโอกาสเติบโตในสหรัฐฯ และเพื่อนจากนานาประเทศที่กล้าเดิมพันสูงยิ่งกว่าโดยไม่กังวลเพราะมั่นใจในเส้นทางแห่งการเติบโตที่เลือก เหล่านี้หลอมรวมเป็นความเชื่อมั่นในเส้นทางของมาร์ค ซึ่งสามารถถ่ายทอดความเชื่อนั้นถึงทีมงานมาทิลดาได้
ด้วยขั้นตอนและแผนการที่วางไว้อย่างชัดเจน โดยมีทั้งข้อมูลและตัวอย่างความสำเร็จที่เดินนำทางมาแล้วเป็นเหมือนเข็มทิศและแผนที่ ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำเหลือเพียงการเดินตามความตั้งใจของตัวเองโดยไม่ออกนอกเส้นทาง
Comments