top of page

มาทิลดา x บ้านห้วยพ่าน

ถ้าบอกคุณว่า คุณจะได้พบกับผืนป่าธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์เพียงขับรถแค่สองชั่วโมงเศษจากตัวเมืองในทุกวันนี้ คุณจะเชื่อไหม

            พวกเราหลายคนในรถตู้ก็คิดไม่ถึงเหมือนกันว่า หลังจากขับรถผ่านถนนทางราบมาอยู่พักใหญ่ จู่ ๆ รถจะต้องขับขึ้นลงทางถนนสูงชันที่ตัดโอบผ่านภูเขาขนาดย่อม และมีสะพานไม้ที่ชาวบ้านสร้างกันเองเพื่อเป็นทางเข้าหมู่บ้านเป็นจุดวัดใจที่น่าหวาดเสียวที่เราต้องลุ้นกันสุดตัวว่า ฝนที่ตกลงมาในวันก่อนหน้าจนทำให้ทั้งลำน้ำเป็นสีชาเย็นเข้มขุ่นจะทำให้น้ำในลำห้วยพ่านท่วมมิดสะพานหรือไม่ และรถตู้ของเราจะสามารถขับข้ามผ่านสะพานไม้แคบไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า

            ดังนั้น เมื่อรถตู้ของพวกเราข้ามลำน้ำมาได้อย่างปลอดภัยและเราได้หันกลับไปมองเส้นทางที่ผ่านมา เราจึงรู้สึกว่า การข้ามลำน้ำนี้เหมือนกับเป็นการพาพวกเราก้าวสู่โลกอีกใบหนึ่ง โลกใบเล็กที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาและผืนป่าที่ยิ่งใหญ่แต่สงบเย็น และเป็นโลกที่คนค่อย ๆ เดินจับมือไปกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน แตกต่างจากความวุ่นวายเร่งรีบของสังคมยุคปัจจุบัน

            ในที่สุดพวกเราก็เดินทางมาถึง “ชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน” ชุมชนเล็ก ๆ ที่เข้มแข็งในการดูแลรักษาป่าจนเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

 

            “ศูนย์การเรียนชุมชนบ้านห้วยพ่าน” คืออีกหนึ่งส่วนสำคัญของชุมชนนี้ ศูนย์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2555 และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของชุมชนโดยเฉพาะ โดยมีเอกลักษณ์การเรียนการสอนเป็นของตัวเองอย่างน่ารักและมีความหมายลึกซึ้ง เช่น การเรียกแทนตัวนักเรียนแต่ละคนว่า “พี่ ๆ” เพื่อเพิ่มพลังความมั่นใจให้แก่เด็ก ๆ และปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบ หรือการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้พี่ ๆ เกิดการเรียนรู้และกล้าตั้งคำถามมากกว่าเพียงแค่ท่องจำตามตำรา รวมถึงได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตรงตามความสนใจของตนเอง

            หลักสูตรดังกล่าวของศูนย์การเรียนฯ ใช้วิธีการสอนแบบการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) ซึ่งช่วยให้คุณครูที่มีอยู่เพียงสองคนของศูนย์การเรียนฯ สามารถสอนนักเรียนกว่า 11 คนที่กระจายตามระดับชั้นต่าง ๆ ถึง 7 ชั้นปีการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้







“เวลา + การเงิน = อุปสรรคของศูนย์การเรียนฯ”

อย่างไรก็ดี การดำเนินการของศูนย์การเรียนฯ เพื่อ “พี่ ๆ” ของหมู่บ้านไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ “ครูมน” ศรัณย์พร รัตสีโว ครูชุมชนประจำศูนย์การเรียนฯ เล่าให้พวกเราฟังว่า ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนฯ ใหม่ ๆ คุณครูที่นี่ต้องทำทุกอย่างในศูนย์การเรียนฯ ตั้งแต่การทำความสะอาด ทำอาหารกลางวัน และงานเอกสารที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน และเนื่องจากศูนย์การเรียนฯ ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ เวลาส่วนใหญ่ของครูมนและคนในชุมชนจึงต้องทุ่มเทให้กับการระดมเงินทุนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การทอดผ้าป่าและการทำโครงการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเวลาในการบริหารจัดการศูนย์การเรียนฯ และการเรียนการสอนของพี่ ๆ ที่ศูนย์การเรียนฯ ไม่ใช่น้อย

 

“เมื่อเราได้มาพบกัน”

ในปี 2564 มูลนิธิมาทิลดามีโอกาสได้รู้จักกับบ้านห้วยพ่านและรับรู้ถึงปัญหาของศูนย์การเรียนฯ ด้วยความประทับใจในหลักการและความมุ่งมั่นของคุณครูที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อศูนย์การเรียนฯ ทางมาทิลดาจึงได้ตัดสินใจเข้าช่วยเหลือโดยเริ่มจากการสนับสนุนด้านการเงิน โดยการสนับสนุนนี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของศูนย์การเรียนฯ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนครู ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าอาหารกลางวันของพี่ ๆ รวมไปถึงค่าซ่อมแซมปรับปรุงโครงสร้างของศูนย์การเรียนฯ ด้วย ทั้งนี้ ทางมูลนิธิต้องการสนับสนุนให้ศูนย์การเรียนฯ โฟกัสที่การเรียนการสอนเป็นหลักอย่างที่สถานศึกษาควรจะเป็น โดยไม่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการระดมทุนหรือทำงานเอกสารเพื่อขอรับการสนับสนุนอย่างเช่นเคย และมูลนิธิมาทิลดาจะค่อย ๆ เพิ่มบทบาทของการเป็น “พี่เลี้ยง” ด้วยการให้คำแนะนำบุคลากรของศูนย์การเรียนฯ ในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น การทำบัญชี การลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ และการบริหาร โดยหวังว่า ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้ศูนย์การเรียนฯ สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

“มาทิลดาและบ้านห้วยพ่านในวันนี้”

หนึ่งปีผ่านไป… ชุมชน พี่ ๆ และศูนย์การเรียนฯ ได้เติบโตไปพร้อมกันกับผืนป่าเขียวขจีที่กว้างใหญ่ขึ้น

 

ในฐานะที่เป็นผู้เห็นกระบวนการทำงานของมาทิลดามาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ครูมนกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาว่า “พี่ ๆ และครูไม่ต้องเดินทางไปไหนไกลเพื่อร่วมอบรม ลดความเป็นห่วงของผู้ปกครอง และเมื่อมาทิลดาเข้ามาช่วยเหลือทำให้เรามีเวลาเตรียมการสอนพี่ ๆ นักเรียนมากขึ้น ไม่ค่อยยุ่งเรื่องเอกสารการทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และยังทำให้เราเห็นความสำคัญของการทำบัญชีมากขึ้น มูลนิธิมาทิลดาไม่ได้แค่สนับสนุนงบประมาณ แต่มาช่วยให้คำปรึกษาและคำแนะนำหลาย ๆ เรื่องให้กับศูนย์การเรียนฯ”

            “เราเองรู้สึกดีใจมากที่มาทิลดาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การเรียนฯ และต้องขอขอบคุณมาทิลดามาก ๆ เหมือนเรามีเพื่อนร่วมเดินทาง ทำให้มีกำลังใจที่จะเดินทางต่อไปเพื่อพี่ ๆ ทุกคน”





“รอยยิ้มของทุกคนคือแรงผลักดันของพวกเรา”

            คราวนี้คณะของเรามีเวลาเพียงหนึ่งวันที่บ้านห้วยพ่าน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างในการพบกันครั้งนี้ รวมไปถึงการทำกิจกรรมร่วมกับพี่ ๆ ตามที่ตั้งใจไว้ แต่สำหรับพวกเราหลายคนที่เพิ่งมีโอกาสเดินทางมาบ้านห้วยพ่านเป็นครั้งแรกนั้น นี่เป็นหนึ่งวันที่เราได้ใช้ไปอย่างคุ้มค่า คณะของพวกเราได้พบปะพูดคุยกับผู้นำชุมชน ผู้ปกครองและคุณครู เราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้ทานอาหารกลางวันแสนอร่อยฝีมือของคนในชุมชน และได้ร่วมสังเกตการณ์การเรียนการสอนของพี่ ๆ ที่ห้องเรียนบ้านดิน ได้เยี่ยมชมโครงสร้างต่าง ๆ ของทางศูนย์การเรียนฯ ได้เห็นชุมชนกำลังไปได้ดี เห็นพัฒนาการว่าการสนับสนุนของมาทิลดาเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ณ ที่แห่งนี้ ทำให้พวกเรารู้สึกดีใจที่ทางมูลนิธิได้เป็นส่วนหนึ่งของรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้คนที่นี่


            ขณะที่รถตู้กำลังเคลื่อนตัวพาพวกเรากลับสู่กรุงเทพฯ ผ่านสะพานไม้อันเดิมนั้น เรารู้ดีว่า ส่วนหนึ่งในใจของพวกเราทุกคนจะยังคงอยู่ที่นี่ เป็นทั้งความคิดถึงและแรงบันดาลใจผลักดันที่จะทำอีกหลายสิ่งร่วมกับทางศูนย์การเรียนฯ และชุมชนบ้านห้วยพ่านต่อไปในอนาคต เพื่อให้รอยยิ้มสดใสนี้คงอยู่กับชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืน

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page