top of page

“บ้านห้วยพ่าน” ตอนที่ 2: การศึกษาทางเลือกของชุมชน


โรงเรียนในป่าใหญ่

วันนี้มูลนิธิมาทิลดาอยากพาทุกท่านกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านห้วยพ่านและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนห้วยพ่านอีกครั้ง และอยากแนะนำให้ท่านรู้จักกับหลักสูตรการเรียนรู้ที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับชุมชนโดยเฉพาะของที่นี่ บทความนี้จะพาพวกท่านไปรู้จักกับกิจกรรมและรูปแบบการเรียนการสอนบางส่วนของพี่ ๆ นักเรียนทั้ง 12 คนในเทอมที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรและมีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษบ้าง


การเรียนรู้ควบคู่การสืบทอดวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน

หนึ่งในแนวทางการเรียนการสอนที่สำคัญของศูนย์การเรียนรู้ฯ คือ การเรียนรู้โดยใช้โครงงาน (Project Based Learning – PBL) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคการเรียนการสอนที่โรงเรียนทางเลือกหลายแห่งนิยมนำมาปรับใช้เนื่องจากมีความสอดคล้องกับแนวคิดการยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ PBL จะส่งเสริมการเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง การหาข้อมูล และการลงมือทำ โดยมีวัตถุประสงค์ว่า ผู้เรียนจะสามารถนำความรู้ในลักษณะนี้ไปเชื่อมโยงกับบริบทและนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างการใช้ PBL มาใช้ในการเรียนการสอนในเทอมที่ผ่านมาของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนห้วยพ่าน คือ “โครงการปลูกข้าว”





“โครงการปลูกข้าว” คำถามที่ดีนำไปสู่การเรียนรู้สมวัย...

โครงการปลูกข้าวใช้ประโยชน์จากวิถีชีวิตการทำนาและประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนาของชุมชนบ้านห้วยพ่าน เช่น ประเพณีการลงแขก ซึ่งชุมชนมีองค์ความรู้จากครอบครัวที่พร้อมจะถ่ายทอดให้พี่ ๆ นักเรียนอยู่แล้ว และศูนย์การเรียนรู้ฯ เสริมสร้างบทเรียนด้วยการแทรกแนวคิดและกระบวนการแบบวิทยาศาสตร์เข้าใปในโครงการ คุณครูจะให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามและการค้นคว้า เช่น “ข้าวกินอะไรลงไปถึงจะเติบโต” “ข้าวเป็นพืชแบบใดและเจริญเติบโตแบบใด” “ระบบรากของข้าวเป็นอย่างไร” โดยอิงตามหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และศูนย์การเรียนรู้ฯ นำมาปรับให้เป็นลักษณะโครงงานรวมถึงเชื่อมโยงเข้ากับหมวดวิชาพื้นฐานอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น คณิตศาสตร์และสังคมศึกษา

เสน่ห์ของการเรียนรู้ในโครงการนี้คือ “การตั้งคำถามที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้” โดยคำถามจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับช่วงวัย พี่ ๆ นักเรียนในแต่ละวัยและระดับการศึกษาจะได้รับคำถามที่แตกต่างกัน เช่น คำถามของพี่ ๆ นักเรียนรุ่นเล็กจะเน้นการมองเห็นและกระตุ้นให้เกิดการสังเกต เช่น อย่างไหนคือข้าว อย่างไหนคือหญ้า ในขณะที่พี่ ๆ นักเรียนรุ่นโตจะทำโครงการด้วยการลงมือปฏิบัติจริงในนาข้าวในช่วงฤดูการดำนาและเก็บเกี่ยว


รู้เท่าทันตัวเอง...รู้เท่าทันโลก

นอกจากการเรียนรู้ผ่านโครงงานแล้ว ศูนย์การเรียนรู้ฯ ส่งเสริมการรู้จักตัวเองและรู้เท่าทันสถานการณ์ต่าง ๆ ในสังคมผ่านกิจกรรมประจำยามเช้าของพี่ ๆ นักเรียน คือ “การแชร์และสะท้อนตัวเองผ่านวิชาจิตศึกษา” พี่ ๆ จะได้รับมอบหมายให้ติดตามข่าวสารและนำมาล้อมวงแบ่งปันกันในยามเช้าของทุกวันเพื่อสะท้อนมุมมอง ความคิด ความรู้สึกของพี่ ๆ นักเรียนต่อข่าวสารนั้น ๆ คำถามส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับข้อคิดที่ได้จากข่าวสารและสะท้อนกลับเข้าสู่ตัวพี่ ๆ นักเรียนแต่ละคนว่า “หากเราเป็นคนในข่าวนี้เราจะมีความคิดอย่างไร” และคุณครูของศูนย์การเรียนรู้ฯ จะช่วยชี้แนะด้วยการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้มากขึ้นหรือเสริมข้อมูลในเชิงบริบทให้ทันต่อโลกและเหตุการณ์ เช่น ต้องระวังตัวอย่างไร ทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร หรือจะดูแลชีวิตให้ดีขึ้นอย่างไร รวมถึงการคัดกรองความน่าเชื่อถือของข้อมูลซึ่งปัจจุบันกลายเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคดิจิทัลไปแล้ว


ร่วมกันกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกัน

ศูนย์การเรียนรู้ฯ เลือกที่จะให้พี่ ๆ นักเรียนร่วมกันสร้างกติกาในการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพและความเข้าใจ มากกว่าการบังคับให้ปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข ที่นี่... พี่ ๆ นักเรียนมีส่วนในการร่วมกันระดมสมองเพื่อกำหนดกติกาต่าง ๆ เอง เช่น

1. “ห้ามกลับบ้านในเวลาเรียน” เพื่อสร้างความรู้สึกเท่าเทียมกันในหมู่พี่ ๆ นักเรียน โดยตกลงกันว่าจะไม่มีใครกลับบ้านเพื่อไปซื้อของ หรือกลับไปเล่นที่บ้านในระหว่างวัน กติกานี้นอกจากจะมีเพื่อสร้างความสามัคคีและวินัยสำหรับพี่ ๆ แล้วยังมีประโยชน์เพื่อความสบายใจของผู้ปกครองว่า พี่ ๆ ทุกคนจะอยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ และไม่ออกนอกลู่นอกทางไปที่อื่นในระหว่างวันด้วย

2. “ไม่ปีนหน้าต่าง” เพื่อฝึกการให้ความเคารพต่อสถานที่ด้วยการ เข้า-ออก ทางประตูอย่างเหมาะสม

3. “ไม่หยิบของที่ไม่ใช่ของตัวเอง” เนื่องจากเป็นปัญหาที่พี่ ๆ นักเรียนพบบ่อยว่า เพื่อน ๆ จะหยิบรองเท้าของคนอื่นไปใส่แล้วลืม นำไปถอดทิ้งไว้ที่อื่น หรือนำกลับบ้านไปด้วย

4. “ใช้จานแล้วต้องล้าง” เพื่อฝึกความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเองและรับผิดชอบต่อของใช้ของส่วนรวม

จะเห็นว่า กติกาต่าง ๆ เป็นการแก้ปัญหาที่พี่ ๆ นักเรียน “พบเจอร่วมกัน” ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ จึงเป็นช่วยส่งเสริมทักษะของการอยู่ร่วมกันในสังคม การเห็นอกเห็นใจ และความเคารพซึ่งกัน ไม่ว่าจะเป็นความเคารพต่อบุคคลที่อยู่ร่วมกันหรือสถานที่และของใช้ของส่วนรวม


โรงเรียนทางเลือก – การศึกษาที่ออกแบบได้

            ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนห้วยพ่านมุ่งเน้นการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเด่นของโรงเรียนทางเลือก (Alternative School) ที่มีหลักการว่า ความหลากหลายตามธรรมชาติของมนุษย์นำไปสู่การเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามความเหมาะสมกับตัวผู้เรียนและบริบทแวดล้อม


สำหรับบ้านห้วยพ่าน การเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้ฯ ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมและองค์ความรู้ภายในชุมชนในการสร้างเสริมการเรียนรู้ของลูกหลาน ความเข้าใจในเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และทรัพยากรในมือของตัวเองทำให้บทเรียนที่นี่มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร เป็นทางเลือกสำคัญในการมอบการศึกษาให้กับคนรุ่นต่อไปของชุมชน ทางมาทิลดาขอเป็นกำลังใจให้คุณครูและพี่ ๆ นักเรียนในเส้นทางการเรียนรู้นี้ และขอเชิญชวนทุกท่านร่วมติดตามในตอนต่อไปว่า ในเทอมการศึกษาหน้าพี่ ๆ นักเรียนจะมีกิจกรรมอะไรกันบ้างในแบบฉบับของบ้านห้วยพ่าน







ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page