หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของปี 2567 ที่ทั่วโลกเฝ้าจับตาคือ “การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปารีส” ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้เห็นการประชันความสามารถของนักกีฬาจากหลากหลายประเทศที่พยายามคว้าเหรียญรางวัลในกีฬาประเภทต่าง ๆ อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าขบคิดคือ “จำนวนเหรียญที่ชนะ” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของประเทศหรือจำนวนประชากรเสมอไป จนนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่า “อะไรคือปัจจัยแท้จริงที่ผลักดันให้นักกีฬาประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก”
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นถึงความทุ่มเทและการเสียสละของนักกีฬาที่ฝึกซ้อมและเป็นตัวแทนประเทศของตน อย่างไรก็ดี ผลงานอันยอดเยี่ยมที่พวกเขาแสดงให้เห็นบนเวทีระดับโลกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามของนักกีฬาเพียงคนเดียว แต่มีระบบสนับสนุนที่มองไม่เห็นอยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จอย่างยิ่ง
การตั้งเป้าหมายเป็นนักกีฬาโอลิมปิค เรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายที่ความเสี่ยงสูง และการแข่งขันเพื่อขึ้นสู่จุดสูงสุดในระดับโลกย่อมมีอัตราความเป็นไปได้ต่ำ ดังนั้น การที่ประเทศหนึ่งจะมีคนที่จะกล้าเสี่ยงขนาดนั้นได้มากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีระบบรองรับ คอยดูแลคนที่ไปไม่ถึงฝั่งฝันแค่ไหน ถ้าล้มเหลวแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ นักกีฬาจากแต่ละประเทศได้รับการสนับสนุนที่แตกต่างกัน ประเทศที่สะสมเหรียญได้มาก มักมีระบบสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนที่แข็งแกร่งและครอบคลุม เช่น เยอรมนี ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทำให้นักกีฬาสามารถมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อมและแข่งขันได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความมั่นคงทางการเงินและความเป็นอยู่ ในขณะที่นักกีฬาอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย แม้จะมีรางวัลที่คุ้มค่าเมื่อประสบความสำเร็จ แต่การเดินทางไปสู่ความสำเร็จนั้นกลับยากลำบาก และอาจเป็นการยากที่จะลุกขึ้นมาอีกครั้งหากล้มเหลว
การสนับสนุนให้คนทำตามความฝันเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ที่สำคัญของมูลนิธิมาทิลดา เราได้เคยพูดถึงเรื่องนี้ในปี 2565 ในบทความ “เราถูกรั้งไว้ด้วยข้อจำกัดของเราหรือไม่” (อ่านต่อที่นี่) ซึ่งเป็นเรื่องของการก้าวข้ามข้อจำกัดในใจเรา และบทความนี้จะเป็นการต่อยอดจากบทความเดิมด้วยการเน้นข้อจำกัดที่มาจากโครงสร้างภายนอก ที่หากรัฐและเอกชนเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน ก็จะช่วยลดข้อจำกัดและเปิดทางให้คนทำตามความฝันได้มากขึ้น
ปัจจัยที่ท้าทายต่อการไล่ตามความฝันของนักกีฬาไทย
ปัจจุบัน นักกีฬาทีมชาติไทยยังไม่มีรายได้ประจำจากภาครัฐ มีเพียงเบี้ยเลี้ยงในช่วงเก็บตัวเพื่อแข่งขันวันละ 900 บาท หากต้นสังกัดของกีฬานั้น ๆ สามารถหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมก็อาจส่งผลให้เบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับปัจจัยความเป็นที่นิยมของกีฬา หรือชื่อเสียงของนักกีฬาประเภทนั้น ๆ และหากนักกีฬาประสบความสำเร็จก็จะได้รับเงินอัดฉีดเพิ่มเติมจากภาครัฐ เช่น นักกีฬาที่ได้รับเหรียญทองโอลิมปิกจะได้รับเงิน 10-12 ล้านบาท เหรียญเงิน 6 – 7 ล้านบาท และเหรียญทองแดงประมาณ 4 ล้านบาท เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสนับสนุนนี้ยังจำกัดอยู่เฉพาะนักกีฬาที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จในระดับสูงเท่านั้น ส่วนนักกีฬาที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม elite หรือติดทีมชาติกลับต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก
นอกจากเรื่องค่าตอบแทนแล้ว นักกีฬาไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาล ซึ่งแม้จะมีระบบบัตรทอง 30 บาทคอยรองรับ แต่ระบบนี้อาจไม่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับการบาดเจ็บที่ซับซ้อนซึ่งต้องการการฟื้นฟูทางกายภาพเฉพาะทาง หรือปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากความเครียดของการฝึกซ้อมและการแข่งขัน อีกทั้งยังขาดสวัสดิการรองรับนักกีฬาหลังเกษียณ การฝึกซ้อมในสถานที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์มาตรฐานที่จำเป็น และการขาดโอกาสในการศึกษาหรือพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ทำให้นักกีฬาจำนวนมากต้องเลือกระหว่างการเรียนและการฝึกซ้อม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ดังนั้น การตัดสินใจเป็นนักกีฬาเต็มเวลาในประเทศไทยจึงเป็นความท้าทายที่มีความเสี่ยง นอกจากการฝึกซ้อมและการแข่งขันที่ยากลำบากแล้ว นักกีฬาในประเทศไทยยังขาดการสนับสนุนจากระบบรองรับที่ครอบคลุมเพียงพอ เป็นเหตุให้นักกีฬาหลายคนต้องหารายได้จากอาชีพเสริมหรือหาผู้สนับสนุนในลักษณะ Sponsor มิฉะนั้นจะไม่สามารถเลี้ยงชีพตัวเองหรือครอบครัวได้
ข้อได้เปรียบของประเทศที่มีระบบสนับสนุนที่เข้มแข็ง
ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ซึ่งมีระบบสนับสนุนที่ดีที่สามารถมอบความมั่นคงและลดความเสี่ยงแก่นักกีฬาในหลายด้าน เช่น
1. “ประกันสุขภาพ” ครอบคลุมการรักษาเฉพาะทางที่นักกีฬาต้องการเมื่อเกิดการบาดเจ็บ ทำให้นักกีฬาสามารถรักษาตัวได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
2. “ประกันการว่างงานและเงินบำนาญ” การเล่นกีฬาสามารถยึดเป็นอาชีพได้เฉพาะในช่วงอายุที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์เท่านั้น การมีระบบรองรับการว่างงานและการเกษียณสามารถช่วยให้นักกีฬาอุ่นใจได้ว่า หลังจากจบอาชีพนักกีฬาแล้วจะไม่ต้องเผชิญกับภาวะการเงินที่ยากลำบาก ทำให้สามารถมุ่งมั่นกับการพัฒนาตัวเองในช่วงการแข่งขันได้เต็มที่
3. “ระบบสนับสนุนการศึกษาแบบ Dual Career” ช่วยให้นักกีฬาสามารถเรียนและฝึกซ้อมไปพร้อมกันได้ผ่านการจัดตารางเรียนที่ยืดหยุ่นร่วมกับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ นักกีฬาจากประเทศเยอรมนียังสามารถขอรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจาก Deutsche Sporthilfe ได้อีกด้วย ทำให้นักกีฬาไม่ต้องกังวลเรื่องวุฒิการศึกษาและทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการหางานเมื่อจบอาชีพนักกีฬา
สนับสนุนได้ด้วยการสร้าง “ความมั่นคง” และ “ลดความเสี่ยง”
การสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถสร้างความมั่นคงให้นักกีฬาได้
ระบบสนับสนุนที่ดีสามารถสร้าง “ความปลอดภัย” ที่ทำให้นักกีฬาทุ่มเทกับการฝึกซ้อมและพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ความสามารถในการแข่งขันก็จะเพิ่มขึ้น และไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีงานทำหากเลิกเล่นกีฬา หากขาดการสนับสนุนที่ครอบคลุมและเพียงพอ นักกีฬาก็จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่ทำให้ต้องแบ่งเวลาหรือโฟกัสไปที่งานเสริมอื่น ๆ เพื่อความมั่นคงทางการเงิน หรือตัดสินใจเลิกตามความฝันทางกีฬาของตัวเองเพื่อเลือกอาชีพอื่นที่สร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพได้มากกว่า
การสนับสนุนที่เพียงพอไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือนักกีฬาในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังส่งสารไปถึงเยาวชนรุ่นใหม่ว่า “ความฝันของพวกเขาเป็นไปได้จริง” และ “พวกเขาสามารถไล่ตาม passion ของตนเองได้โดยไม่ต้องกังวลกับความไม่แน่นอนของชีวิตในอนาคต” การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่ง จะช่วยให้นักกีฬาและคนที่มีความฝันในสายอาชีพอื่น ๆ สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
มูลนิธิมาทิลดาเองก็อยากมีบทบาทเล็ก ๆ ในการสนับสนุนให้คนไทยได้ไปถึงศักยภาพที่ดีที่สุดของตนเองผ่านโครงการ Break Your Boundary (BYB) ซึ่งเป็นโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาต่อในต่างประเทศโดยไม่มีดอกเบี้ย สนับสนุนให้ผู้ที่มีความฝันจากทุกสาขาอาชีพกล้าเสี่ยงโดยไม่มีเรื่องเงินเป็นข้อจำกัด หรือโครงการสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ที่บ้านห้วยพ่านของมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกที่ส่งเสริมให้เด็กสามารถคิดและกำหนดแนวทางให้ตัวเองได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้คนไทยได้มีโอกาสไล่ตามความฝันได้อย่างมั่นใจมากขึ้นค่ะ
อ้างอิง
5. Dual Career https://en.spitzensport-stipendium.de/duale-karriere
6. ทุนการศึกษา https://en.spitzensport-stipendium.de/about
コメント