top of page

Friends of Matilda: สยามวิชชาลัย

         เนื่องจากปัญหาด้านการศึกษาในประเทศไทยมีความหลากหลายทั้งในเชิงมิติ โครงสร้าง และปัจจัยกำหนดในแต่ละพื้นที่และตัวบุคคลที่มีความแตกต่างกัน ทำให้ปัจจุบันมีหน่วยงานจากภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงมูลนิธิเพื่อการศึกษาต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยที่มองเห็นปัญหาในการศึกษาของประเทศไทยจากมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนำไปสู่แนวทางการแก้ไขและการสนับสนุนที่หลากหลายไปด้วยอย่างน่าสนใจ

“ศูนย์การเรียนสยามวิชชาลัย” เองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยศูนย์การเรียนฯ มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้แบบชี้นำตนเองและเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านการศึกษาทางไกล เพราะมีหลักคิดว่า การศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และยั่งยืนมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเรียนในระบบได้

วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่มูลนิธิมาทิลดาจะได้พูดคุยกับคุณจิลล์ พรมดี นายกสมาคมและผู้อำนวยการศูนย์การเรียนฯ และคุณชี่ ภัสจณา งามทิพากร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ผู้อยู่เบื้องหลังศูนย์การเรียนสยามวิชชาลัยทั้งสองท่านค่ะ

 




คุณจิลล์กับคุณชี่เริ่มสนใจปัญหาด้านการศึกษาได้อย่างไรคะ

            (จิลล์) ตอนแรกได้เข้ามาช่วยคุณพ่อ ซึ่งทำโรงเรียนสอนแพทย์แผนไทยชื่อ “โรงเรียนภัทรเวชสยาม” ตอนนั้นเรายังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่นะว่าการศึกษาเป็นยังไง เราแค่มองเห็นปัญหาในการทำงานเนื่องจากผู้เข้าเรียนของโรงเรียนเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด มีตั้งแต่อายุ 18 ถึง 80 และแต่ละคนมีความต้องการที่หลากหลาย เราก็ เราก็พยายามหาคำตอบของปัญหานี้ ก็ใช้วิธีที่ตัวเองใช้เสมอมาเวลาสงสัยอะไร คือ “ไปเรียน” ไปเรียนปริญญาเอกการศึกษานอกระบบ การศึกษาตลอดชีวิต พอมาเรียนแล้วเลยได้เปลี่ยนทัศนคติไปเลย เปลี่ยน mindset เลย เราเข้าใจว่า คนที่มาเรียนคือ “ผู้เรียน” ไม่ใช่ “ลูกค้า” พอเปลี่ยนปุ๊บมันเปลี่ยนสิ่งที่เราจะปฏิบัติต่อเขา เพราะเรารู้แล้วว่าเขาต้องการอะไร…

 

แล้วเริ่มมาทำสยามวิชชาลัยได้ยังไงคะ

            (จิลล์) เราเริ่มเห็นกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาส ปัญหาการศึกษาจริง ๆ มันไม่ใช่แค่เล็ก ๆ แต่มันใหญ่กว่านั้นในระดับโครงสร้าง เลยอยากทำอะไรที่จะช่วยเด็กที่ขาดโอกาส ก็เลยมาเติม gap (ช่องว่าง) ตรงนี้

 

เลือกกลุ่มเป้าหมายอย่างไร

            (จิลล์) พอเราเรียนปริญญาเอกในหัวข้อการศึกษาตลอดชีวิต เราได้เห็นว่าการเรียนมีความหลากหลาย มันมี (1) การเรียนในระบบ (2) การเรียนนอกระบบ และ (3) การเรียนตามอัธยาศัย ซึ่งโดยปกติคนทั่วไปจะให้ค่าเฉพาะการเรียนในระบบและส่งลูกเข้าโรงเรียนตามกระแสหลัก ซึ่งตรงนี้ไม่ขาดแคลนมากนักเนื่องจากมีรัฐคอยสนับสนุนอยู่ แต่มีเด็กที่มีความต้องการเฉพาะที่ไม่ได้ fit in กับระบบการศึกษากระแสหลัก เราก็เลยมาเปิดการศึกษานอกระบบในรูปแบบการเรียนออนไลน์ที่การศึกษาในระบบเขาไม่ทำกัน เด็กที่เรียนกับเราก็สามารถเอาวุฒิไปใช้ต่อได้เพราะเราได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปตามมาตรฐาน ตามเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้

 

มีอุปสรรคในการทำงานบ้างไหม

            (ชี่) “Process ของการจัดตั้งสยามวิชชาลัยมีอุปสรรคอยู่บ้างเพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีหลายตัว บางกฎหมายก็ขัดกันเอง และกระบวนการจัดตั้งจะถูกตีกรอบด้วยคำที่ใช้ เช่น เราไม่ใช้คำว่า “โรงเรียน” แต่ใช้คำว่า “ศูนย์การเรียน” ซึ่งศูนย์การเรียนก็จะมีกระบวนการที่แตกต่างออกไป

อีกสิ่งที่เป็นอุปสรรคคือ “แต่ละพื้นที่ทำงานไม่เหมือนกัน” เชียงใหม่ทำแบบหนึ่ง นนทบุรีทำแบบหนึ่ง จันทบุรีทำแบบหนึ่ง ทั้งที่ทั้งหมดอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกันคือ สพฐ. เราก็ต้องเจรจาและทำตามกระบวนการทีละจังหวัด เราก็ต้องสู้ต่อไป…

อันที่จริงเราเองก็เข้าใจและไม่ได้โทษเจ้าหน้าที่ว่าสร้างอุปสรรคในการทำงานให้เรา เพราะศูนย์การเรียนของเราเป็นการเรียนทางไกล เรียนออนไลน์ ซึ่งรูปแบบเหล่านี้จริง ๆ แม้ไม่ใช่ของใหม่ มันมีอยู่มานานแล้ว (ของรัฐก็มี) แต่มันไม่ได้ถูกทำให้มองเห็นกันทั่วไป มันก็จะมี mindset บางอย่างที่มาครอบงำว่า ต้องเรียนโรงเรียนดี ๆ ต้องเรียนโรงเรียนมีชื่อ ส่วนเราเป็นหน่วยงานเอกชนที่อยากเข้ามาช่วยอุดช่องโหว่ต่าง ๆ ด้านการศึกษาและเป็นรูปแบบออนไลน์ด้วย เขาจึงไม่รู้จะทำงานกับเรายังไงในช่วงแรก

            อีกปัญหาที่หนักสำหรับเราคือ กฎหรือประกาศอะไรของรัฐบางอย่างที่กีดกันคนบางกลุ่มอยู่ เช่นล่าสุดที่เรากำลังสู้กันอยู่เป็นประเด็นที่กระทบนักเรียน homeschool ด้วยเช่นกันคือ “เรื่องอายุ” ระเบียบบอกว่าเราไม่สามารถรับเด็กอายุเกิน 18 ปีเข้าเรียนได้ ปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ เราตั้งสติได้ว่าร้องเรียนไปก็คงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเวลาอันรวดเร็ว เราจึงไปเปิดอีกศูนย์การเรียนนึงในอีกรูปแบบเพื่อรับนักเรียนอายุเกิน 18 ปีโดยเฉพาะชื่อ H Parc Learning Center ซึ่งตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นการศึกษาแบบ Work Integrate Learning ต่างจากของสยามวิชชาลัยที่เป็น Project-Based Learning

 

เป้าหมายหรือ vision ของสยามวิชชาลัยคืออะไร

            (จิลล์) เราจะรับเด็กที่เรียนในระบบไม่ได้ ปัจจุบันมีเด็กที่มีประวัติคดีต่าง ๆ หลายคนที่ในระบบไล่ออกเพราะมันเสียชื่อเสียง เราก็รับหมด เด็กท้อง เด็กติดยา เด็กที่ระบบไม่โอบรับ

(ชี่) จริง ๆ คนมองว่า การไปเรียนไม่ได้เป็นความผิดของเด็ก แต่ว่าระบบกีดกันหรือไม่เปิดโอกาสให้เขาด้วยเช่นกัน

(จิลล์) ตอนนี้เรามีนักเรียนประมาณหนึ่งร้อยคน เด็กสุดคือ ม.ต้น โตสุดก็คือ ม.ปลาย จะมีสัดส่วนนักเรียนจำนวนหนึ่งที่เรียนกับเราที่เป็นเด็กที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม และมีสัดส่วนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กที่เป็นออทิสติก ดาวน์ซินโดรม และก็มีเด็กที่เขารู้ว่าตัวเองไม่เหมาะกับการเรียนในระบบ เช่น นักเรียนที่เป็นนักกีฬาทีมชาติก็มี

(ชี่) เด็กที่เป็นสัดส่วนเยอะสุดคือเด็กที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพราะเราเข้าไปช่วยเกือบทุกจังหวัดแล้ว เราให้ทุนสำหรับคนที่ออกมาแล้วด้วย เช่น บางทีเขาได้รับประกันตัว เมื่อประกันออกมาแล้วจะกลับไปเรียน รร เก่าก็ไม่ได้ กศน. ก็ไม่รับเพราะช่วงที่ออกมาไม่ตรงรอบที่ กศน. เปิดรับสมัคร หรือเขาไม่มีทุนทรัพย์ที่จะเข้าถึง กศน. ได้ มันก็จะเสี่ยงต่อการกลับไปสู่วงจรเสี่ยงแบบเดิม

ส่วนเด็กธรรมดาทั่วไปที่รู้ตัวเองว่าไม่เหมาะกับระบบหลัก เป็นกลุ่มเด็กที่เราชื่นชมเขามากเพราะเขารู้จักตัวเอง แล้วการที่เขาค้นหาข้อมูลจนมาเจอเรา แล้วไปคุยกับพ่อแม่จนพ่อแม่เขาโอเคด้วย

(จิลล์) ถ้าไม่มีศูนย์การเรียนอย่างสยามวิชชาลัยเขาจะมีทางเลือกเดียวที่จะเรียนได้คือ กศน. แต่ว่า กศน. จะเปิดรับสมัครนักเรียนปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น ถ้าเกิดเด็กที่ออกมาไม่ตรงกับรอบที่ กศน. เปิด เด็กก็จะขาดโอกาสเรียนไปเลย เพราะเด็กที่ถูกปล่อยตัวออกมาจากกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วไปก็จะไม่รับเข้าเรียน

 

แล้วเด็ก ๆ รู้จักสยามวิชชาลัยได้ยังไงคะ

            (ชี่) จะมีผู้ปกครองบางกลุ่มที่เขาค่อนข้าง active เวลาที่เขาจะย้ายลูกไปเรียนที่ไหนเขาจะติดต่อกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในพื้นที่เพื่อถามว่า มีตัวเลือกในการเรียนที่ไหนบ้าง ซึ่งเขาก็ได้ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรา นี่เป็นข้อดีของการไปอยู่ในรายชื่อของหน่วยงานรัฐ และผู้ปกครองบางท่านเห็นปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก เช่น พอวันนึงต้องกลับไปโรงเรียนหลังจากช่วงโควิดแล้วพบว่าเด็กไม่อยากกลับไปเรียน ทำให้พ่อแม่รู้ว่าลูกไม่ชอบโรงเรียนเพราะโดนแกล้ง หรือโดนกระทำอะไรที่โรงเรียน ก็มีส่วนหนึ่งที่เห็นเราเป็นทางเลือกและมาหาเรา

ในส่วนของเด็กที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น สถานพินิจต่าง ๆ เป็นการเจรจาระหว่างสยามวิชชาลัยกับกระทรวงยุติธรรมที่ทำงานร่วมกัน โดยกระทรวงยุติธรรมเริ่มรู้จักเราผ่านหน่วยงานพันธมิตรอย่างศูนย์การเรียนพัฒนาเด็กและเยาวชน หรือ CYF ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมูลนิธิเพื่อการศึกษาในจังหวัดนครพนมที่ทำเรื่อง ‘นครพนมโมเดล’ ที่ช่วยเชื่อมเรากับกระทรวงยุติธรรมเพื่อไม่ให้การศึกษาของเด็ก ๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมขาดช่วงไปและมีคุณภาพ

 

เรามองอนาคตของสยามวิชชาลัยไว้อย่างไร

            (จิลล์) ในตอนนี้ก็จะต่อสู้ให้การศึกษาในรูปแบบของสยามวิชชาลัยรับนักเรียนอายุเกิน 18 ได้ ทุกคนต้องมีสิทธิเรียน มันก็เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการต่อสู้ ก็ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ก็จะทำต่อไป

 

มองว่าการศึกษาทางเลือกช่วยแก้ปัญหาการศึกษาในไทยได้มากน้อยแค่ไหน

            (จิลล์) เราว่าโลกมันเปลี่ยนแล้ว คนเริ่มเข้าใจแล้วว่า มันไม่จำเป็นต้องเข้าไปเรียนในโรงเรียนเท่านั้นแล้ว การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมันกำลังโตขึ้นมาแทนที่ ทุกคนมีโอกาสเลือกรูปแบบการศึกษาที่เหมาะกับตัวเอง และเด็กควรจะต้องรู้ตั้งแต่วัยเรียนว่าเขามีทางเลือก

 

คนมองว่าการศึกษาทางเลือกเดี๋ยวเด็กไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อน ไม่รู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น เราจะบอกคนเหล่านี้มาอย่างไร

            (จิลล์) ถ้าคุณส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนตามระบบ ลูกคนจะมีเพื่อนห้าสิบคนในห้องที่ต้องเจอกันทุกวัน แต่ถ้าลูกคุณเรียนกับเราสังคมมันจะกว้างกว่านั้น สังคมมันคือทั้งโลก ลูกคุณจะสามารถไปฝึกงาน ไปทำจิตอาสา มันกว้างกว่าแค่ในห้องเรียน

 

คนอาจมองว่าพวกเรียนทางเลือกหรือเรียนออนไลน์จะมีปัญหาเรื่องวินัย จะตื่นกี่โมงก็ได้ จะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ ถ้าเรียนตามระบบจะต้องทำตามกฎระเบียบ ได้ฝึกเข้าแถว ฯลฯ จะบอกคนเหล่านี้ว่าอย่างไร

            (จิลล์) ของเราคือวินัยมาก ๆ เลยนะ ถ้าไม่มีวินัยเราก็ไม่ปล่อยให้จบ ไม่ให้ผ่าน จุดเน้นของเราคือ Self-directed Learning (การเรียนแบบชี้นำตนเอง) เท่านั้นถึงจะเรียนกับเราได้ คุณจะต้องกำหนดเวลาเรียน คุณจะต้องแพลนการเก็บงานทำผลงานด้วยตัวเอง โดยครูไม่ต้องมานั่งบอกว่าต้องทำยังไง เพราะฉะนั้นเด็กจะต้องเป็นผู้วางแผนชีวิตและจัดการตัวเองตั้งแต่วัยเรียน ถ้าไม่มีวินัยก็แค่ไม่จบ

           

ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนมากน้อยแค่ไหนคะ

         (จิลล์) ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมมากสำหรับการศึกษาของเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโครงการ CAN ที่เราต้องออกแบบร่วมกันกับผู้ปกครองตามความต้องการของเด็ก เช่น แผนการพัฒนากล้ามเนื้อ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นเด็กทั่วไปต้องมีวินัย สามารถบริหารจัดการตัวเองได้ โดยพึ่งครูหรือผู้ปกครองให้น้อยที่สุด

 

เรามีการวัดผลนักเรียนอย่างไรคะ

            (จิล) เด็ก ๆ ก็จะมีการนำเสนอโครงการเป็น mini Thesis (วิทยานิพนธ์ขนาดย่อม) มีสอบพูด สอบการนำเสนองาน แล้วก็สอบบูรณาการ

 

เรามีเด็กในระบบประมาณร้อยกว่าคน แล้วเรามีครูกี่คน

            (จิลล์) เราจะเป็นครูที่ปรึกษาเอง แต่ถ้าเป็นครูสอนวิชาการจะเป็นครูที่อื่นมาช่วย หลัก ๆ แล้วมีประมาณสิบคนที่หมุนเวียนกันไป หลายครั้งเราก็จะดูที่โปรเจคของนักเรียนว่าเป็นเรื่องอะไร แล้วเราก็จะไปเอาคนที่เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ มาช่วย ในสายวิชาการก็จะมีครูที่อัดวิดีโอไว้ให้เรา หรือเข้ามาสอนด้วยเดือนละครั้ง

(ชี่) มีครูที่เป็นครูรับเชิญด้วยเหมือนกัน เช่น ถ้าโปรเจคของนักเรียนเกี่ยวกับงานวิศวะ เราก็จะเอาครูที่ทำงานวิศวะมาช่วย เด็ก ๆ เขาก็จะได้เจอคนใหม่ ๆ เขาก็เอนเตอร์เทนด้วย

 

ในประเทศไทยมี platform การเรียนที่เหมือนกันสยามวิชชาลัยไหม

            (ชี่) มีหลายศูนย์การเรียนและมูลนิธิพันธมิตรของเราที่กำลังสู้ในเรื่องเดียวกันอยู่ เช่น ศูนย์การเรียน เดวิดซ์ คอลลินส์ คริสเตน เป็นต้น เราช่วยสนับสนุนกันและกันในงานของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีจำนวนจังหวัดเยอะ ทำให้เราต้องช่วยกันดู ไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน การเรียนจะเป็น Project กับ Work Base เหมือนกัน ต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่วิธีการตามความถนัดของแต่ละศูนย์ฯ อย่างสยามวิชชาลัยเราก็จะถนัดกลุ่มเปราะบาง แล้วก็ถนัดโปรเจค ถนัด Consult แต่ของพันธมิตรอื่นก็จะถนัดไปทางแนวอาชีวะ สายวิชาชีพ เป็นต้น

 

เราทำทั้งหมดนี้ไหวได้ยังไงคะ

            (จิลล์) เราใช้คนได้เต็มศักยภาพ จำนวนคนทำงานเราไม่เยอะ แต่เรารู้ว่าจะวางแผนยังไงให้มันโอเคและงานมันดำเนินได้ ทีมงานก็จะมี 4 คนที่ดูการบริหารจัดการและดูแลระบบ แต่เราก็จะมีพันธมิตรและมีเครือข่ายครูที่ช่วยกันและมองเห็นปัญหาเหมือนกัน

 

ในเคสที่เราให้ทุนนักเรียน เราเอาทุนมาจากไหน

            (จิล) มันเป็น Cycle ของมัน มันจะมีเด็กนักเรียนที่จ่ายได้เราก็เอาเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือเด็กคนอื่น เป็นการส่งต่อโอกาสได้ด้วย

 


ช่วงตกผลึก: ทำไมมาทิลดาถึงเลือกพูดคุยกับ “สยามวิชชาลัย”

            ในระดับวิสัยทัศน์และการลงมือทำ มูลนิธิมาทิลดามองว่า มูลนิธิฯ กับสยามวิชชาลัยเป็นหน่วยงานที่มองเห็นปัญหา ‘คนอยากเรียนแต่ไม่ได้เรียน’ เหมือนกัน และต่างก็ลงมือแก้ปัญหาเพื่อช่วย ‘อุดช่องว่าง’ ด้านการศึกษาในไทยในแบบของตัวเอง โดยสยามวิชชาลัยมองเห็นเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในระบบกระแสหลักได้เพราะ ‘ไม่ได้รับการยอมรับ’ ด้วยเหตุผลหลากหลาย เช่น มีความต้องการพิเศษหรืออยู่ในกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่มาทิลดามองเห็นศูนย์การเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยขนาดและจำนวนนักเรียนที่ไม่ถึงเกณฑ์ และคนที่ต้องการเรียนต่อต่างประเทศเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพให้กับตัวเองแต่มีข้อจำกัดทางการเงิน ซึ่งแม้เป้าหมายของเราจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ทั้งสองหน่วยงานเป็นกลุ่มคนที่มองเห็นปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาและไม่ได้มองผ่านไป แต่ลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหานั้นในส่วนที่สามารถทำได้และมีความถนัด 


            ในระดับตัวตน ทีมงานสยามวิชชาลัยมี DNA คล้ายคลึงกันกับความเป็นมาทิลดา โดยเฉพาะการตั้งคำถามและหาคำตอบ เห็นได้จากความสงสัยเกี่ยวกับการศึกษา จึงขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อผู้เรียนและมองเห็นปัญหา และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ มาทิลดายังมองว่า สยามวิชชาลัยขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งความไม่ยอมแพ้ เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาให้กับเยาวชนไทยแล้ว หากพบเจอปัญหาก็สู้ไม่ถอย และพร้อมจะพลิกแพลง ยกตัวอย่างเช่น การเปิด H Parc Learning Center ที่เชียงใหม่สำหรับบุคคลอายุเกิน 18 ปีที่ต้องการเรียน


            ในระดับเครือข่าย สยามวิชชาลัยทำงานแบบมีเครือข่ายพันธมิตร ทั้งเครือข่ายศูนย์การเรียนอื่น ๆ ที่ช่วยกันแบ่งเบางานของนักเรียนในกระบวนการยุติธรรม และมีมิตรสหายผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาอาชีพที่สามารถเป็นครูรับเชิญพิเศษได้

            ดังที่กล่าวในช่วงต้น มาทิลดามองว่า ปัญหาด้านการศึกษาต่าง ๆ ของประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีหลากหลายมิติ ไม่ใช่ปัญหาที่คนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมดอย่างรอบด้าน ดังนั้น การมีเครือข่ายพันธมิตรจึงเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าในตอนนี้ “รูรั่ว” ที่มาทิลดาและสยามวิชชาลัยมองเห็นและกำลังลงมือซ่อมแซมอยู่อาจไม่ใช่รูรั่วเดียวกัน แต่เป็นรูรั่วในภาชนะใบเดียวกันที่เรียกว่า ‘การศึกษาในประเทศไทย’ แน่นอน

มาทิลดาเชื่อว่า การลงมือทำคนละไม้คนละมือจากต่างมุมมองจะช่วยให้ภาพใหญ่โดยรวมดีขึ้นได้ในที่สุดค่ะ หวังว่าวันหนึ่ง “มาทิลดา” และ “สยามวิชชาลัย” จะได้มีโอกาสร่วมงานกันนะคะ

 

“หากอยากเดินทางให้ไวต้องไปคนเดียว หากอยากเดินทางให้ไกลต้องอาศัยมิตร”

(สุภาษิตจากภาษาสวาฮีลี แอฟริกาตะวันออก)

ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page