top of page

Friends of Matilda (มาทิลดาแนะนำเพื่อน) - ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

วันนี้มูลนิธิมาทิลดามีเพื่อนที่อยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักค่ะ

 


คนที่เป็นคอหนังหรืออยู่ในแวดวงภาพยนตร์ในไทย น้อยคนนักจะไม่รู้จักเพื่อนของมาทิลดาท่านนี้ พี่ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club เป็นหนึ่งในผู้นำที่สร้างสรรค์ให้วงการภาพยนตร์ในไทยเกิดความหลากหลาย สร้างพื้นที่ให้คนที่ไม่ชอบตามกระแสได้มีโอกาสพบปะเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และพี่ธิดาลงมือทำสิ่งเหล่านี้โดยไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จไหม ทางมาทิลดาจึงเชื่อว่าพี่ธิดาน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหลาย ๆ คนที่อยากจะบรรลุศักยภาพที่แท้จริงของตัวเองหรือได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองเลือกอย่างแท้จริงแต่ยังไม่กล้าที่จะเริ่มลงมือทำ

 

ทีมมาทิลดามาพบพี่ธิดาที่ “Doc Club and Pub” พื้นที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ของ Documentary Club ที่พี่ธิดาคัดสรรมาให้ผู้สนใจ นอกจากภาพยนตร์หลากหลายแนว บทสนทนาที่เข้มข้นแล้ว ยังมีเครื่องดื่มเพื่อความสุนทรีย์อีกด้วย

 

เรามาในวันที่ Doc Club and Pub กำลังจัดนิทรรศการ “ใบปิด” หรือโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยที่ในช่วงยุคกว่า 40 – 50 ปีที่ผ่านมาใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เมื่อเข้าฉาย หลายชิ้นที่จัดแสดงเป็นงานวาดมือโดยศิลปิน ซึ่งมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ มีชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างจากภาพถ่ายดิจิทัลในปัจจุบัน ในงานนิทรรศการนี้ พี่ธิดาได้คัดสรรใบปิดภาพยนตร์ในตำนานหลายชิ้นมาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นใบปิดจากภาพยนตร์คลาสสิกอย่าง “แผลเก่า” “ฟ้าทะลายโจร” “ทวิภพ” โอกาสที่จะได้เห็นอะไรแบบนี้ตามโรงภาพยนตร์ใหญ่ตามห้างสรรพสินค้าในปัจจุบันเรียกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เราจึงพูดได้ว่า ทั้งบรรยากาศของพื้นที่และตัวนิทรรศการเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เริ่มรู้จักพี่ธิดาได้เป็นอย่างดี


SUMMARY WHO/ใคร “ธิดา ผลิตผลการพิมพ์” คือผู้มีใจรักในภาพยนตร์และชื่นชอบสารคดี เป็นผู้บุกเบิกและบริหาร Documentary Club ซึ่งคัดเลือกและเปิด platform ให้คนไทยได้ชมสารคดีหาดูยากจากทั่วโลก พี่ธิดาเคยทำงานกับบริษัท GMM Grammy ด้วยการเป็น บก. เว็บไซต์ ตามด้วยทำนิตยสารภาพยนตร์ Bioscope เป็นของตัวเองอยู่กว่า 12 ปี ก่อนจะหันมาทำงานเกี่ยวกับสารคดีอย่างเต็มตัวในปัจจุบัน







WHAT/โจทย์คืออะไร

เราต้องการตัวอย่างในชีวิตจริงของผู้ที่ท้าทายข้อจำกัดของตัวเอง เพื่อเป็นตัวอย่างว่า เมื่อตัดสินใจออกจากกรอบเดิมไปเจอสิ่งใหม่ ๆ จะเป็นอย่างไร รับมือกับมันอย่างไร


อ่านบทความอื่นๆของเราที่เกี่ยวข้องได้ที่:

The Sky's the limit ไม่มีลิมิต ชีวิตเกินร้อน

Are we being held down be limitations? เราถูกรั้งไว้ด้วยข้อจำกัดของเราหรือไม่



WHY/ทำไม

พี่ธิดาทำให้เห็นว่าคุณสมบัติทั้ง 7 ข้อที่มาทิลดายึดถือ ไม่ว่าจะเป็น Mindful, Altruistic, Thirsty, Inquisitive, Loving to Others, Determine, และ Accountable จะช่วยประคับประคอง เป็นแรงผลัก เป็นแรงส่ง ในการรับมือความเปลี่ยนแปลงและก้าวเดินตามเส้นทางที่เราเลือกเองได้ และคุณสมบัติเหล่านี้ซึ่งอาจจะฟังดูเป็นนามธรรม แต่เมื่อบอกเล่าผ่านประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของพี่ธิดาจะเป็นตัวอย่างที่ดีในชีวิตจริงที่จับต้องได้


จากการทักทายกันเบื้องต้นเราทราบว่า พี่ธิดาไม่ได้เรียนมาทางด้านภาพยนตร์โดยเฉพาะ แต่เรียนจบมาด้านสถาปัตย์ (ออกแบบอุตสาหกรรม) เมื่อตอนเรียนจบยังหางานที่ตรงตามสายที่เรียนมาไม่ได้ และเห็นประกาศรับสมัครนักวิจารณ์ภาพยนตร์เลยลองไปทำดูเพราะต้องการเงินเดือนมาช่วยที่บ้าน และคิดว่าจะกลับมาทำงานบริษัทโฆษณาเมื่อมีงานเข้ามา แต่สุดท้ายไม่ได้กลับมาทำงานด้านออกแบบอีกเลย เราจึงขอเริ่มต้นด้วยการถามแทนคนที่สาขาวิชาที่เรียนมากลายเป็นข้อจำกัดสาขาการทำงานว่า

 

ทำงานไม่ตรงสายมีรู้สึกเสียดายสิ่งที่ตัวเองเรียนมาไหม?

 

พี่ธิดา “ไม่ได้มองว่าเสียดายในสิ่งที่ตัวเองเรียนมา เพราะเรียนสถาปัตย์ได้เรียนงานกราฟฟิกซึ่งยังใช้ได้ในงานปัจจุบัน รวมถึงสิ่งที่ได้มาโดยตรงจากการเรียนคือ “วิธีคิด” ที่เป็นศิลปะผสมวิทยาศาสตร์ แนวคิดนี้สามารถเอามาใช้ในงานต่าง ๆ ได้ตลอด ทำให้เราเห็นมุมมองแตกต่างจากคนอื่น”

 

MATILDA value: Mindful, Thirsty, and Determine

การรู้จักความชอบความต้องการของตัวเอง เมื่อรวมเข้ากับความกระหายที่จะทำในสิ่งที่รักและความมุ่งมั่นที่จะฝ่าฝัน เป็นแรงผลักให้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงและเอาชนะความกลัว และเป็นตัวประคับประคองในการก้าวเดิน

 

สำหรับคนที่ได้เคยทำงานมาหลากหลายอย่างที่ธิดา ตั้งแต่เป็นกอง บก. ฝ่ายภาพยนตร์ของเว็บไซต์ให้กับบริษัทแกรมมี่ และจับมือกับสามีออกมาทำนิตยสาร Bioscope ของตัวเอง ทำงานกับบริษัท Mono และผันตัวมาบุกเบิกงานสารคดีในไทยในปัจจุบันกับ Documentary Club “อะไรเป็นจุดที่ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนจากเส้นทางที่คุ้นเคยในแต่ละครั้ง?”

พี่ธิดา “ตอนทำแกรมมี่เงินเดือนเยอะ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยได้เงินเดือนเยอะขนาดนี้ แต่ว่าตอนนั้นเรายังอายุไม่สามสิบ แต่เรายังคิดถึงการทำงานแบบที่เราชอบ คือ งานแมกกาซีนที่ต้องคิดและลงมือทำด้วยตัวเอง พอเราได้ทำหนังสือ Bioscope ซึ่งเป็นหนังสือทำมือที่มีคอนเซปต์และวิธีสื่อสารของมัน และในช่วงนั้นไม่มีสื่อที่พูดเรื่องหนังอย่างจริงจัง ทำให้เราเริ่มเป็นที่รู้จัก ทำให้เรามีผู้ติดตามจริงจัง มีคนส่งจดหมาย feedback ได้ไปสัมภาษณ์ผู้กำกับ ฯลฯ ทำให้รู้ว่ามีความต้องการสิ่งนี้อยู่ มันมีหน้าที่และรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีประโยชน์ รู้สึกว่าเราลงแรงไปแล้วได้อะไร มันเห็นชัด ในขณะที่ทำงานเว็บไซต์ได้เงินเดือนดีก็จริงแต่มันยังไม่ตอบโจทย์อย่างอื่นทางด้านความรู้สึกของเรา” เมื่อรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรแล้ว พี่ธิดาไม่กลัวที่จะลงมือทำและเดินหน้าสู่สิ่งที่ต้องการ ไม่เสียเวลากับสิ่งที่แน่ใจแล้วว่าไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป “ถ้าตอนนั้นเราไม่ตัดสินใจเราคงไม่ได้ทำ เพราะเราเจอเพื่อนที่บ่นกันว่าอยากเปลี่ยนงาน ๆ แต่รอจนถึงอายุ 40 – 50 ก็ยังทำงานอยู่ที่เดิมไม่ได้เปลี่ยนซักที จนมีลูกแล้วมันจะยิ่งยากขึ้น รู้สึกว่ามันต้องได้ ทำหนังสืออย่างมากก็แค่เจ๊ง เจ๊งแล้วยังไง คนเขาก็เจ๊งกันเป็นปกติ

 

การเดินตามทางที่ตัวเองเลือกไม่ได้สบายหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบ การทำนิตยสารมีข้อบีบคั้นต่าง ๆ ในแบบของมัน ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย fixed cost ที่สูงทำให้ต้องคอยหาโฆษณาอยู่เสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนิตยสารเฉพาะทางอย่าง Bioscope “ วงการนิตยสารไทยมันเป็นวงการที่อยู่รอดได้ด้วยรายได้จากโฆษณา เล่มใหญ่มีโฆษณาเยอะก็รอด เล่มบางมันไม่ค่อยมีโฆษณาก็เจ๊ง เพราะตลาดคนอ่านไม่ได้ใหญ่ขนาดจะเลี้ยงตัวเองได้ด้วยยอดขายเพียงอย่างเดียวเนื่องจาก cost ในการทำแมกกาซีนรายเดือนมีสูง ทุกอย่างเป็นต้นทุน ไปหมด ไม่ใช่ content คุณดีอย่างเดียวแล้วจะรอด แต่คุณต้องเอาแรงทั้งหมดไปหาโฆษณา”ยังไม่รวมถึงการต้องต่อสู้กับ deadline ในแต่ละเดือนที่จะต้องปิดเล่มให้ได้ แต่ข้อสรุปที่ได้คือ “เหนื่อยกับสิ่งที่รักย่อมดีกว่า” ตามคำเล่าของพี่ธิดาว่า “พี่สนุกมากกับการทำงาน กว่าจะปิดแต่ละเล่มได้ แบบเหนื่อยสุดฤทธิ์สุดเดช พักไปสองวันกลับมาเปิดเล่มใหม่เฮ้ยมีความสุขร่าเริง เรามีความสุขเวลาทำงานสื่อสาร เราสนุกเวลาเราได้อ่านเรื่องโน้นเรื่องนี้แล้วก็มานั่งคิดว่าจะเอาเรื่องนี้มาเล่ายังไง เรามีความสุขมาก ๆ จนถึงตอนนี้ก็ยังมีความสุขกับอะไรแบบนี้ อย่างตอนนี้ก็เหมือนกันต้องปั่นหนังเรื่องนึงโหเบื่อสุด ๆ อยากพัก พอพักไปแป๊บเดียวถึงเวลาต้องฉายหนังเรื่องใหม่ก็สนุก เราทำเราก็เหนื่อยนะ แต่พอดีเป็นงานที่เราไม่ได้กล้ำกลืนฝืนทน ตัวงานเป็นสิ่งที่เรามี passion

 

MATILDA value: Inquisitive

กระบวนการในการหาคำตอบและลงมือทำจะเอาชนะความกลัวด้วยการเปลี่ยนสิ่งที่ไม่รู้ให้เป็นสิ่งที่รู้

 

เปลี่ยนจากนิตยสารมาฉายสารคดีได้อย่างไร?

พี่ธิดา “ช่วงที่เราทำนิตยสาร Bioscope เราได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับวงการหนังไว้เยอะว่า “ทำไมมันเป็นแบบนี้” “ทำไมมันไม่เป็นแบบนี้” “ทำไมหนังในประเทศไทยมีกลุ่มประเภทหนังให้ดูน้อยจัง” “ทำไมบางอย่างมันไม่สามารถจะยืนอยู่ได้จริง ๆ เหรอ” และหนังสารคดีเป็นสิ่งที่เราชอบเป็นการส่วนตัว เมื่อก่อนเคยคิดว่ามันไม่น่าเป็นไปได้ใครจะมาดู นึกภาพว่าคนจะไปซื้อตั๋วเพื่อไปดูหนังสารคดีไม่ออก แต่สุดท้ายก็อยากลองทำดู…”

 

อะไรทำให้พี่ธิดากล้าที่จะก้าวออกจากสิ่งเดิมที่คุ้นชินเข้าไปหาสิ่งใหม่ มีอะไรแนะนำคนที่ยังไม่กล้าไหม เพราะหลายคนอาจจะชอบหาข้ออ้างว่า “ฉันไม่พร้อม” “ฉันยังไม่เก่ง”

พี่ธิดา “ทำเลยอย่าคิดเยอะ ยิ่งถ้าอยู่ในช่วงวัยที่มีสิ่งที่ต้องคิดไม่มากนัก ถ้าเปลี่ยนได้ก็เปลี่ยนไปเลย คนเราชีวิตมันก็สั้นลงทุกวัน เราไม่ได้จะเปลี่ยนทุกวันใช่มั้ย ถ้ามีโอกาสมาถึง จุดอะไรบางอย่างที่ให้แรงบันดาลใจเรามาแล้ว มันจะมีบางจังหวะที่บอกเราว่า “เฮ้ยมาแล้ว” และมองรอบตัวแล้วมันไม่ได้มีอะไรน่ากลัวขนาดนั้น มันก็คือจังหวะนั้นแหละ ถ้ามันผ่านไปแล้วมันก็จะผ่านไปเลย อีก 7-8 ปีมั้งค่อยมาใหม่ มันไม่ได้มาบ่อย ๆ แต่ว่าสุดท้ายสิ่งที่เราทำมันต้องยืนอยู่บนความเป็นจริงประมาณหนึ่ง เช่น เราออกมาเรารู้ว่าเราจะไม่กลับไปสู่วงจรแบบตอนทำแมกกาซีนที่แบก fixed cost ที่มันไม่สัมพันธ์กับรายได้ เราทำทุกอย่างบนฐานที่มี back up มันไม่ใช่ว่าฝันปุ๊บแล้วออกเลย เราออกไปทำในสิ่งที่เรามีต้นทุนอยู่บ้าง”

 

MATILDA value: Accountable

รับผิดชอบ รับฟัง feedback

 

เราสงสัยว่า ใน Journey ของชีวิตการทำงานตั้งแต่ Bioscope มาจนถึง Documentary Club พี่ธิดาคิดว่าอะไรคือคุณสมบัติที่จำเป็น

พี่ธิดาตอบโดยไม่ต้องคิดนานว่าคือ “ความอึด” และความรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มีประโยชน์ “สิ่งที่ทำให้เราอยู่กับมันได้เพราะมันมี feedback เล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าสิ่งที่เราทำ หรือหนังเรื่องนี้บางทีคนดูน้อย แต่มันมีซักคนนึงที่มาดูแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้โคตรมีความหมายกับเขาเลย โหพี่มันดีมากเลย ขอบคุณมากเลยที่พี่เอามาฉาย  มันคืออะไรแบบนี้จริง ๆ ที่ดึงเรากลับมาเรื่อย ๆ ที่เรายึดว่าเรากำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ มีคนที่ได้ประโยชน์ พวกนี้ทำให้เราฮึดกลับมาและทำไปได้เรื่อย ๆ” และ “เราเป็นคนจริงจัง ถ้าเราเลือกได้เราอยากทำคนเดียว เพราะเราอยากเค้นให้มันมาจากเรา ถ้ามันจะพังให้มันพังคามือเรา”

 

MATILDA value: Altruistic and Loving to Others

คิดถึงคนอื่น คิดถึงส่วนรวม

 

พี่ธิดามองว่า การทำงานเกี่ยวกับสารคดีและภาพยนตร์มีประโยชน์ในการเพิ่มตัวเลือกและกระตุ้นการเรียนรู้ในสังคมด้วยเช่นกัน


“รสนิยมคนดูหนังเป็นข้อจำกัดในการทำงานของพี่ธิดาไหม?”

พี่ธิดา “เราจะไม่โทษคนดูหรือรสนิยมคนดูว่า คนไทยทำไมชอบดูหนังแบบนี้ มันเป็นเรื่องปกติไม่ใช่เฉพาะสังคมไทยอย่างเดียว เราคิดว่ามันเป็นทุกที่ คนดูไม่ได้ผิดที่จะมีรสนิยมแบบใดแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ เราไม่มีเฉดที่ละเอียดกว่านี้ที่เป็นตัวเลือกให้เขา ถ้ามีหลาย ๆ ประเภท และเด็ก ๆ ได้รับการสอนงานศิลปะจนถึงจุดที่ดูหนังแบบใดก็รับได้ ดูหนังพจน์ อานนท์ก็สนุก ดูหนังอภิชาติพงศ์ก็ appreciate ได้ เราว่าอันนี้คือสิ่งสำคัญที่เราต้องเพาะบ่มขึ้นมา การมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ที่มีหลายเฉดต้องสร้างขึ้นมา”

 

จนถึงตอนนี้เรารับรู้ได้ว่า พี่ธิดาเป็นคนที่รู้จักตัวเอง มีความมุ่งมั่นอดทน รับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ มีความกระหายต่อสิ่งที่รัก มีความสนใจและตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำทางและประคับประคองพี่ธิดามาหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน แต่นอกจากเลือดนักสู้ในตัวแล้ว ความเป็นมาทิลดาในตัวพี่ธิดายังมีความเข้าใจและเอื้ออาทรต่อคนรุ่นใหม่ที่ยังต้องตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะไป จะเอาอย่างไรกับชีวิตตัวเอง และมีความเห็นว่าทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐด้วยโครงสร้างทางสังคมที่ดีขึ้น

 

เราสัมผัสความหวังดีนี้เมื่อเราถามว่า

 

“พี่ธิดาอยากพูดอะไรกับเด็ก ๆ ที่มีความฝันอยากทำงานด้านศิลปะวัฒนธรรมหรืองานสร้างสรรค์อื่น ๆ ซึ่งสังคมส่วนใหญ่มองว่าสิ่งเหล่านี้คืองานอดิเรก คืองานสันทนาการ ไม่ใช่งานที่จะทำเลี้ยงชีพ”

พี่ธิดา “พี่มีความคิดว่า จริง ๆ แล้วชีวิตคนเรามันคือการค้นหาไปเรื่อย ๆ เราเห็นน้อง ๆ อายุ 20-30 ซึ่งหลายคนมีความทุกข์กับการเกิดคำถามกับตัวเองว่า ฉันอายุเท่านี้แล้วทำไมยังไม่อย่างงู้นอย่างงี้อย่างงั้น ถูกพ่อแม่และสังคมตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่จะประสบความสำเร็จหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ต้องมีก็ได้ ชีวิตมันหาไปเรื่อย ๆ ก็ได้และเราอยากให้ลูกเราเป็นอย่างนั้น และมันไม่จำเป็นนะว่า อายุเท่านั้นเท่านี้ หรือตลอดชีวิตต้องประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็น! ใครไปบอกว่าเราต้องปักธงเอาไว้ตรงนี้? ต่อให้ในชีวิตนี้คุณไม่เป็นโล้เป็นพายแต่คุณดูแลตัวเองไปจนรอดได้ ไม่เป็นภาระใคร ไม่ได้มีความทุกข์และพอใจชีวิตอย่างนั้น คุณก็มีวิถีของคุณได้ เราพอใจแค่นี้แล้ว จบ! ถ้ามันเป็นอย่างนี้ได้มนุษย์จะมีเสรีภาพมากขึ้น มนุษย์ควรจะมีเสรีภาพ แต่เราไม่มีเพราะมีอะไรต่าง ๆ มาครอบเราว่า เราต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สุดท้ายเราคิดว่าสังคมต้อง shape ตัวเองใหม่ให้มนุษย์ทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในแบบของตัวเองและเค้าดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ว่าจะด้วยรัฐสวัสดิการใด ๆ เพื่อที่เค้าจะได้หลุดออกจากกรอบความคิดว่าจะต้องผลักทุกคนเข้าสู่การเป็นแรงงานในกรอบเดิม ๆ…”

 

            การพูดคุยกันในวันนี้ทำให้เราเห็นภาพว่า “ในทุกการเปลี่ยนแปลงของชีวิตมีความไม่แน่นอนที่น่าหวาดหวั่นทั้งสิ้น” เช่น ในตัวอย่างของพี่ธิดา ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งรายได้หลักที่มั่นคงออกมาเริ่มต้นทำนิตยสารเฉพาะทางแบบที่ไม่ค่อยมีอยู่ในตลาดขณะนั้น ซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายสูงและกำหนดการทำงานที่บีบคั้น การหยุดทำนิตยสารนั้นที่ปลุกปั้นมานับสิบปีเมื่อพบว่า “ไม่ตอบโจทย์” อีกต่อไป และเริ่มต้นใหม่อีกครั้งกับงานสารคดีของ Documentary Club ซึ่งเป็นการนำเสนอสื่อบันเทิงในรูปแบบใหม่ที่ผู้บริโภคชาวไทยและองค์ประกอบอื่น ๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังไม่คุ้นชิน เช่น โรงภาพยนตร์ที่ต้องสร้างกำไรตามกลไกของตลาด แต่จากที่ได้ฟัง Journey ของพี่ธิดาแล้ว คุณสมบัติของมาทิลดาแต่ละข้อ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้จักตัวเอง (Mindful) ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Altruistic) ความกระหายต่อสิ่งที่รัก (Thirsty) การตั้งคำถามและหาคำตอบ (Inquisitive) ความรักที่พร้อมส่งต่อให้ผู้อื่น (Loving to Others) ความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย (Determine) และความรับผิดชอบต่องานที่ทำ (Accountable) มีส่วนสำคัญในการช่วยพาเราก้าวผ่านความกลัวและประสบความสำเร็จในแบบที่เราออกแบบเองได้

 

 

หลังจากได้คุยกันมาพักใหญ่ทีมงานมาทิลดาก็ยิงคำถามสุดท้ายที่แอบสงสัยในใจออกไป

 

พี่ธิดาเคยรู้สึกมั้ยว่า ไม่น่าลาออกมาเลย

 “ไม่เคยเลย”

 

คำตอบนี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนที่สุดว่า การตัดสินใจออกจากกรอบเดิมแต่ละครั้งของพี่ธิดา เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว แม้ว่าจะหมายถึงการละทิ้งสิ่งที่แน่นอนมาก้าวเข้าสู่ความลำบากและความว่างเปล่าที่ต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดจากน้ำแรงของตัวเอง แต่หากสิ่งที่เราเลือกที่จะทำนั้นมีคุณค่าทางจิตใจและตอบโจทย์ชีวิตของเรา ขอให้เชื่อเถอะว่าการตัดสินใจนั้นจะไม่ทำให้เรารู้สึกเสียดายอะไรเลยอย่างแน่นอน

ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page