top of page

Break Your Boundary Program นัตโตะ: ชีวิตคือการทำการบ้านกับตัวเองและหาคำตอบ

โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับพวกเราทุกคนคงเป็นการ “หาคำตอบ” ให้กับชีวิตของตัวเอง และส่วนใหญ่คำตอบนั้นไม่สามารถหาเจอได้จากหนังสือ แต่ต้องออกไปใช้ชีวิต เจอโลก พบผู้คน เจอความสำเร็จ เจอความผิดหวัง เจออุปสรรค ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง และคำตอบจะคอยเราอยู่บนเส้นทางนั้น ๆ ที่พวกเราต่างเลือกเดิน

“นัตโตะ - สุพัฒน์ กันจาด” หนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือกร่วมโครงการ Break Your Boundary (BYB) ของมูลนิธิฯ ประจำปี 2566 ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่ State University of New York at Buffalo ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระดับปริญญาโท สาขา International Trade ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังอยู่บนเส้นทางในการหาคำตอบสำคัญให้กับตัวเองเช่นกัน โดยการหาคำตอบนี้เริ่มมาจากความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองว่า “มีมากเกินกว่าจุด Comfort Zone ที่ตัวเองอยู่” และใช้ความกล้าในการก้าวออกจากจุดปลอดภัยและมาทลายกำแพงข้อจำกัดของตัวเองร่วมกับมูลนิธิมาทิลดา

ไปทำความรู้จักเรื่องราวของนัตโตะด้วยกันเลยค่ะ

 

Mindful - รู้จักตัวเอง

แนะนำตัวหน่อยค่ะ

นัตโตะ: ชื่อนัตโตะครับ ผมเป็นเด็กที่มาจากชายขอบกรุงเทพฯ เพราะบ้านผมถ้าข้ามคลองไปก็จะเป็นกรุงเทพฯ ถ้าข้ามคลองกลับมาก็จะเป็นฉะเชิงเทรา เลยเรียกตัวเองว่าเป็น “เด็กชายขอบ” ได้จริง ๆ เพราะความเจริญมักจะกระจุกอยู่ตรงในเมือง เช่น ในตัวเมืองกรุงเทพฯ และในตัวเมืองฉะเชิงเทรา แล้วเราเหมือนอยู่ในจุดที่ห่างไกลจากความเจริญที่สุด มันเลยกลายเป็นเรารู้สึกว่าเราเป็น “เด็กบ้านนอก” มาก เพราะว่าน้ำประปาก็ไม่มี อินเทอร์เน็ตก็ไม่มี รถที่จะเดินทางไปโรงเรียนก็น้อยมาก

 

ผมเรียนที่ฉะเชิงเทราจนถึง ป.สี่ พอ ป.ห้าปุ๊บ ทุกคนเริ่มรู้สึกว่า “ถ้าอยู่ตรงนี้ก็จะได้แค่นี้” พ่อเลยเริ่มให้เข้าไปเรียนที่หนองจอก ผมเลยได้เป็น “เด็กกรุงเทพฯ” ในตอนนั้น

 

ผมเลยขอนิยามตัวเองว่าเป็น “เด็กบ้านนอก” ครับ เพราะเด็กจากต่างจังหวัดหลาย ๆ คนก็ยังมีชีวิตที่มีความเป็น “เมือง” มากกว่าผมและเข้าถึงอะไรได้มากกว่า ส่วนผมเป็นเด็กที่ “เห็นทุกอย่างเลย แต่เข้าไม่ถึง เพราะมันไกลเกินไป”

 

Thirsty – มีความปราถนาอย่างแรงกล้า

แล้วการเป็น “เด็กบ้านนอก” มันหล่อหลอมเรายังไง?

นัตโตะ: การที่เราเห็นทุกอย่างแต่เข้าไม่ถึงทำให้ผมเป็นคนทะเยอทะยาน หมายความว่า มันดูเหมือนว่าเราไม่มีทรัพยากรอะไรที่จะเข้ามาถึงตัวเราได้เลย เราเลยเป็นคนต้องวิ่งเข้าหามันตลอด วิ่งเข้าหาทุกอย่าง 

 

และด้วยความที่ครอบครัวของเราไม่มาจากพื้นฐานความเป็นเมืองเลย เป็นคนบ้าน ๆ ดังนั้นครอบครัวของผมจะไม่มีไอเดียเลยครับว่าเขาจะ shape เราให้เราเป็นคนยังไง ผมรู้สึกว่าผมเป็นคนที่มีอิสระในการตัดสินอนาคตตัวเองมากครับ เราเลือกที่จะเป็นอะไรก็ได้พ่อแม่ไม่เคยขัด อันนี้คือข้อดีถ้าเทียบกับคนอื่นที่ผมเคยได้ยินมา ที่พ่อแม่อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ของผมคือพ่อแม่บอกให้เป็นอะไรก็ได้เลย แม้จะมีความเสี่ยงอยู่เพราะว่าเราไม่มุมมองของผู้ใหญ่มาช่วยคิด แต่ผมก็รู้สึกโชคดีว่า ผมสามารถเลือกทางที่ “แม้ไม่ดีที่สุด แต่ก็เป็นทางที่ผมชอบที่สุด” ผมเลยลองผิดลองถูกมาเยอะมาก

 

ผมคิดขอบคุณวันเหล่านั้นที่ผมอาจจะหลง ๆ หน่อย ไม่มีใครบอกให้ผมทำอะไร แต่ถ้าไม่มีวันเหล่านั้นที่ผมได้ลองผิดลองถูก ผมก็จะไม่ได้มาถึงจุดนี้ที่เราพอใจนะ

 

Accountability – รับผิดชอบในการตัดสินใจของตัวเอง

การที่เรามีอิสระในการตัดสินใจเอง มันมีข้อดีข้อเสียยังไง

นัตโตะ: ข้อเสียคือ ตอนเด็ก ๆ ผมไม่เห็นภาพใหญ่เพราะไม่มีผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่าช่วยแนะนำ ทำให้เราเสียโอกาสไปในบางอย่างไปบ้าง

 

ด้วยความที่เราตัดสินใจเองก็เหมือนโลกของผมมันมีอยู่แค่นั้นเอง สำหรับผมตอนนั้นโลกของผมก็คือหนองจอก หนองจอกคือใหญ่มากแล้วตอนนั้น ผมก็จะแข่งขันกับเพื่อน ๆ อยู่แค่ตรงนั้น ยกตัวอย่างนะครับ วิชานึงที่ผมรู้สึกเสียดายมากที่เราไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่เด็กเพราะไม่เห็นความสำคัญคือ “วิชาภาษาอังกฤษ” ตอนนั้นทุกคนที่หนองจอก ถ้าใครพูดภาษาอังกฤษก็จะโดนล้อ เพราะมันดูแปลกแยก ถ้าตอนนั้นผมรู้ความสำคัญของมัน ผมคงจะตั้งใจเรียนและทำมันให้ได้ดีกว่านี้มาก และภาษาอังกฤษคงช่วย shape เราให้ไปในทางที่มันดีกว่านี้ได้มาก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปในทางนั้นครับ ในบางมุมผมก็เสียดายครับ

 

แต่ว่าพอมองกลับมา การลองผิดลองถูกถึงแม้จะทำให้เราเสียเวลา แต่มันก็ทำให้ประสบการณ์ที่เราได้มันต่างจากคนอื่นเยอะเลย

 

มีเรื่องนึงที่ผมอยากเล่าคือ ผมเคยถูกชวนไปศึกษาการขายตรงกับบริษัทแห่งหนึ่ง และผมเห็นรุ่นพี่คนนึงอายุ 20 กว่า ๆ ที่ประสบความสำเร็จมาก ผมเห็นแล้วก็รู้สึกว่า “เฮ้ย เราอยากสำเร็จแล้วอ่ะ” “เราอยากรวย” “เราอยากมีเงิน” “อยากเลี้ยงตัวเองได้” ผมเลยเข้าไปทำอย่างจริงจัง มีเครือข่าย มี Downline มี Upline ต้องไปอบรม และได้ลองทำทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นการไปเคาะประตูบ้านคน โดนหมาไล่อะไรแบบนี้ ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปสาธิตสินค้า หลายคนก็มองอย่างตำหนิว่า “ทำไมไม่ตั้งใจเรียน” แต่ผมมองกลับไปไม่เคยเสียดายเลย เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่ไม่ใช่ทุกคนหาได้

 

ทำไมถึงอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ?

นัตโตะ: การเรียนต่อต่างประเทศในมุมมองผมคือ “มันดูเท่” ครับ ผมเคยมีรุ่นพี่ที่ไปร่วมโครงการแลกเปลี่ยน AFS ตอนก่อนเขาไปเขาเป็นคนนึง แต่ขากลับมาเขากลายเป็นอีกคนนึงไปเลย ความมั่นใจ ภาษาที่เขาใช้ วิธีการคิด เขากลับมาเป็น Leader เลย ผมรู้สึกชื่นชมรุ่นพี่คนนี้มาก ๆ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเชื่อว่า การมาใช้ชีวิตต่างประเทศน่าจะสอนอะไรบางอย่างที่ทำให้คน ๆ นึงกลายเป็นคนที่เรามองว่า “เขาอินเตอร์จัง”

 

ในตอนนั้นโอกาสพวกนี้จะเป็นของคนไม่มาก และมักจะเป็นคนที่ผลการเรียนดีมาก ๆ ภาษาอังกฤษดีมาก ๆ หรือมีเงินทุนที่บ้านเป็นหลักแสนที่จะสนับสนุน มันเลยยังเป็นจุดที่เราเข้าไปไม่ถึง เราไม่ได้ผลการเรียนดีเด่น ภาษาอังกฤษเราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ และเราไม่มีเงินแสนแบบนั้นที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เราเป็นคนที่ถูกเลือก

 

เราก็เลยกลายเป็นคนที่อยู่ตรงช่องว่างตรงนั้น คือ “เราก็ขยันอยู่ แต่เราไม่ได้เก่งที่สุด และเราไม่ได้มีเงินพอ” ผมอยู่ในช่องว่างนั้นมาตลอดในช่วงที่ผมอยู่ในระบบการศึกษา อยู่ตรงกลาง ๆ และคนที่อยู่ตรงกลางเนี่ยแหละที่เหมือนจะเป็นคนที่ “ไปรอด” “ใช้ชีวิตรอดได้แน่ ๆ” แต่ว่าเป็นคนที่ได้โอกาสค่อนข้างน้อย ซึ่งเอาจริง ๆ ถ้าผมไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในช่องว่างนี้ ผมก็คงไม่ได้เจอกับมูลนิธิมาทิลดา

 

เล่าเรื่องตอนที่ไปเรียนญี่ปุ่นให้ฟังหน่อยค่ะ

นัตโตะ: ตอนนั้นผมได้ “ทุนโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” ซึ่งก็เป็นโครงการที่ให้โอกาสเหมือนกันสำหรับคนที่ผลการเรียนโอเคแล้วทางบ้านมีปัญหาเรื่องการเงิน ผมไปญี่ปุ่นตอนผมอายุ 17-18 ตอนจบ ม.หก มันคือความโชคดีที่ผมอยู่ในจุดที่ฐานะทางบ้านเป็นอย่างนั้น โลเคชั่นของบ้านอยู่ตรงนั้น ผลการเรียนประมาณนั้น ความทะเยอทะยานประมาณนั้น มันเลยเป็นความพอดิบพอดีที่ทำให้เขามองเห็นว่าผมควรจะได้ทุนนี้ ซึ่งเป็นทุนที่เปลี่ยนชีวิต พลิกเลย ญี่ปุ่นก็ shape ผมให้กลายเป็นคนญี่ปุ่นคนนึงเลยครับ

 

แล้วพอเราได้ไปต่างประเทศแล้ว มันเป็นเหมือนที่เราคิดไหม เราไปญี่ปุ่นแล้วกลับมาเราเป็นยังไง

นัตโตะ: ญี่ปุ่น shape ให้ผมเป็นคนมีวินัย ถ่อมตัว ขี้อาย แต่ผมรู้สึกว่าตอนผมกลับมาจากญี่ปุ่นผมยังไม่ได้เป็น Leader เหมือนรุ่นพี่คนนั้นที่ผมเคยเห็นเขาเปลี่ยนไปหลังจากที่เขาได้ไปเรียนต่างประเทศ เพราะธรรมชาติของคนญี่ปุ่นเป็นคนขี้อาย เป็นคนไม่พูดตรง ๆในคลาสเรียนเขาก็ไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะแสดงออก สี่ปีที่ผมอยู่ญี่ปุ่นมันทำให้ผมเป็นคนเก็บตัว ค่อนไปทาง introvert ด้วยซ้ำไป

 

แต่การไปญี่ปุ่นมีข้อดีเยอะมากครับ เราได้ไปใช้ชีวิต เราได้ภาษา เราได้ไปอยู่กับคนอีกวัฒนธรรมนึงเลย แต่ผมรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่คำว่า “Leader” เหมือนรุ่นที่พี่ผมเคยชื่นชมคนนั้น ผมรู้สึกเสมอเลยว่า วัฒนธรรมตะวันตกมันจะให้อะไรที่แตกต่างจากญี่ปุ่น

 

Inquisitive – สนใจใฝ่หาคำตอบ เราต้องการอะไร? ศักยภาพของเราที่แท้จริงไปได้ไกลขนาดไหน?

แล้วมาเจอมาทิลดาได้ยังไง

นัตโตะ: ตอนนั้นผมรู้สึกว่า ตัวเองทำงานมาหลายปีแล้ว ซึ่งงานก็เป็นงานที่เราชอบ และมีคนคอย Support เราประมาณนึง แต่เรารู้สึกว่า “โอ้ย ทำไมชีวิตเรามันอยู่กับอะไรที่มันเดิม ๆ ตลอดเลย” ถึงแม้ว่าเราพยายามขยับตามสายมาเรื่อย ๆ แต่ผมรู้สึกว่า “ผมอยู่ใน Safe Zone มาก ๆ เลย” จนเรารู้สึกว่ามีความกลัวนิดนึงว่า “ถ้าวันหนึ่งเราออกจาก Safe Zone นี้ไปแล้ว เราจะทำอะไรไม่เป็นเลยอ่ะ” และ “ถ้าเราอยู่ตรงนี้เราก็จะได้แค่นี้” มันอยู่ในจุดที่ถ้าผมไม่เริ่มขยับตัวผมจะออกไปจากตรงนี้ยากแล้ว และเส้นทางของเราข้างหน้ามันมีแต่จะแคบลง แคบลง แคบลง ถึงแม้ว่ามันจะดีก็ตาม

 

คนข้างนอกมองเข้ามาก็คิดว่า “ก็ดีแล้วไง” แต่สำหรับผมมันคือ Safe Zone ที่ไม่ใช่ตัวเราเลย และมันทำให้ผมสงสัยว่า “ศักยภาพของเรามันไม่ได้มีแค่นี้หรือเปล่า” ผมไม่อยากคิดว่าผมทำได้แค่นี้ ผมเลยเริ่มมองหาโอกาสสมัครเรียนต่างประเทศครับ ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่มีเงินจะไปเรียนเลย แต่การเริ่มลงมือสมัครเรียนมันทำให้เห็นภาพตัวเราไปเรียนต่างประเทศ มันเกิด motivation ให้เราเริ่มขยับออกมาจาก Safe Zone นั้นแล้ว…

 

แต่ความจริงที่ผมต้องเจอคือ ไม่ว่าผมจะสมัครเรียนได้แล้ว สอบ IELTS ได้แล้ว แต่ผมยังไม่มีทุนที่จะไปเรียนเลย ผมพยายามหาทุนมาตลอด พอผมมาเจอมาทิลดาผมก็สมัครอย่างไม่ลังเลเลยครับ

 

มีคำถามนึงที่ Founder ของมาทิลดาถามผมไว้แล้วบอกว่า “ไว้ให้มาตอบอีกทีตอนเรียนจบ” คำถามคือ “อยากได้อะไรจริง ๆ” ซึ่งผมยังอยู่ในเส้นทางของการหาคำตอบนั้นอยู่ครับ ผมอาจจะยังไม่ได้คำตอบในตอนนี้ แต่ว่าผมก็ได้พยายามอย่างที่สุดที่จะเอาตัวเองมาอยู่ในจุดที่จะช่วยทำให้ผมพร้อมที่จะเจอคำตอบนั้น การที่ผมได้มาเรียนต่างประเทศมันเปิดมุมมองให้ผมเห็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ได้เห็นความเป็นไปได้ว่าผมมีโอกาสจะทำอะไรได้อีกมาก เส้นทางข้างหน้าของผมมันไม่ได้แคบเหมือนเดิมแล้ว

 

Altruistic - ส่งต่อให้สังคม

นัตโตะ: การที่ผมเตรียมตัวมาแข่งขันเพื่อรับทุนเงินกู้ของมาทิลดา มันทำให้ผมได้ไปคุยกับคนเยอะมาก ทำให้ผมได้ discuss เรื่องการศึกษา เรื่องการให้โอกาส เรื่องของชีวิตของคนอย่างพวกเราที่มันอาจจะไม่ได้เข้าถึงอะไรได้โดยง่าย ช่วงเตรียมตัวเนี่ยแหละครับที่ทำให้ผมได้ตกตะกอนและเข้าใจว่า “ทำไมมาทิลดาถึงตั้งขึ้นมา”

 

ผมรู้สึกว่า เราสามารถจัด panel discussion ขึ้นมาให้เราได้มาแลกเปลี่ยนความคิดกันเรื่องการศึกษาและโอกาส โดยเฉพาะสำหรับคนที่อยู่ในจุดกลาง ๆ ผมชอบมากที่โครงการของมาทิลดายังมีการดึงพวกผมให้มาพูดคุยในเรื่องเกี่ยวกับอะไรพวกนี้ สร้าง motivation และชวนคนอื่น ๆ ให้สนใจมาทลายกำแพงของตัวเองแบบนี้

 

ผมรู้สึกดีมากเวลาที่มีคนมาสอบถามผมเรื่องการสมัครโครงการ BYB และคำตอบของผมก็จะไม่ใช่การบอกเขาตรง ๆ ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่เป็นการตั้งคำถามกลับไปว่าพวกเขาต้องการอะไร มีข้อจำกัดอะไร เพื่อให้พวกเขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านการไปทำการบ้านกับตัวเองมา

 

“เพราะผมเองก็ตื่นเต้นที่จะหาคำตอบของผมเหมือนกันครับ”

 

ความจริงประการหนึ่งของโลกคือ ทุกคนมีสิ่งที่ต้องการในชีวิต แต่ด้วย “ความพร้อม” ที่แตกต่างกันทำให้ไม่ใช่ทุกคนจะได้อย่างที่ต้องการ

 

ทางมูลนิธิมาทิลดาเชื่อว่า แม้จะยังไม่มีคำตอบที่แน่นอนในเวลานี้ว่า “ชีวิตต้องการอะไร” แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำเพื่อตัวเองได้คือ “พาตัวเองไปอยู่ในจุดที่จะทำให้เราพร้อม” เพื่อที่เมื่อโอกาสหรือคำตอบนั้นมาถึง มันจะได้เป็นสิ่งที่อยู่ในระยะที่มือเราสามารถเอื้อมคว้ามันได้

 

การที่นัตโตะไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่สหรัฐฯ ด้วยโครงการ Break Your Boundary ของมูลนิธิมาทิลดาก็เป็นหนึ่งในก้าวย่างสำคัญที่พานัตโตะไปอยู่ในจุดที่พร้อมมากขึ้น และหวังว่าจะมีส่วนในการช่วยให้นัตโตะหาคำตอบให้กับชีวิตได้ค่ะ

 

ทางมาทิลดาเองก็ตื่นเต้นที่จะได้ฟังคำตอบนั้นของนัตโตะเช่นกันนะคะ



นัตโตะและคุณแม่

ดู 57 ครั้ง0 ความคิดเห็น

תגובות


bottom of page