top of page

เส้นทางที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครของ “แวว” (Break Your Boundary 2023)

วันนี้มูลนิธิมาทิลดามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้รู้จัก “แวว - ณัฐวรา เทพเกษร” หนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือกร่วมโครงการ Break Your Boundary (BYB) ของมูลนิธิฯ ประจำปี 2566 ซึ่งมีกำหนดการจะเดินทางไปเรียนต่อในสาขา Effects Technical Director (FX TD) ที่ The Lost Boys Studio, School of Visual Effect ประเทศแคนาดาในเดือนกันยายน 2567 นี้


            จากการคัดเลือกในช่วงสองปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ที่ได้รับคัดเลือกในโครงการ BYB ทุกคนมีความพิเศษเฉพาะตัว และเปล่งประกายคุณค่าหรือ Values ที่มาทิลดานับถือแต่ละข้อในเฉดที่โดดเด่นในแบบฉบับของตัวเอง


แววก็เช่นกัน… เมื่อย้อนประวัติดูจะพบว่า “แววเรียนมาไม่ตรงสายงาน” เคยผ่านการเรียนมาหลากหลายเส้นทาง จากเด็กวิทย์คณิต มาเรียนวิศวะ สลับมาเรียนรัฐศาสตร์ จบมาทำงานกราฟฟิค และจะไปเรียนทำ CG Special effect แบบที่เราเห็นกันในหนัง เส้นทางนี้เมื่อดูผิวเผินอาจจะดูคดเคี้ยวไปมา แต่พอมองด้วยความเข้าใจจะเห็นได้ว่า การจะเดินเส้นทางนี้ต้องกล้าทำตามฝัน และต้องย้อนกลับมาทบทวนตัวเองมากแค่ไหน แต่ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อ (Determined) และการรู้จักตัวเอง (Mindful) และความกระหายอยากทำให้สิ่งที่ชอบ (Thirsty) ของแววสามารถทำให้เราเข้าใจได้ว่า “เส้นทางของแววไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร” แววทำให้มันเวิร์คได้ด้วย “การเรียนเชิงรุก” ไขว่คว้าหาข้อมูลและองค์ความรู้อย่างไม่ท้อถอย (Inquisitive)


เมื่อย้อนไปถึงวันที่สัมภาษณ์คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการประจำปี 2566 ทางมูลนิธิฯ สัมผัสได้ถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นเหล่านี้ในตัวแววและได้กลายมาเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้แววได้มาเป็นผู้ร่วมโครงการหญิงรายแรกของโครงการ BYB ในที่สุด


ไปทำความรู้จักแววกันค่ะ

 

Mindful – (รู้จักตัวเอง)

คำถาม: แนะนำตัวหน่อยค่ะ

 

แวว: ตอนนี้ทำงานเป็น Art และ Creative Director อยู่ที่บริษัทกราฟฟิกดีไซน์แห่งหนึ่งในเชียงใหม่ แต่ว่าก่อนหน้านั้นเรียนรัฐศาสตร์มาที่ มช. ค่ะ ส่วนพื้นเพบ้าน…มีบ้านหลายจังหวัดมากจนไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นคนจังหวัดอะไร เมื่อก่อนย้ายบ้านบ่อยเพราะว่าพ่อทำงานบริษัทประกันและพาครอบครัวย้ายตามไปด้วย แต่ถ้าให้พูดว่าที่ไหนรู้สึกเหมือนบ้านที่สุดก็คงเป็นที่เชียงใหม่กับที่กำแพงเพชรเพราะว่าปัจจุบันพ่อแม่อยู่ที่นั่นค่ะ

 

หนูมีฝาแฝดหนึ่งคนเป็นนางพยาบาล จริง ๆ เพื่อนในกลุ่มหนูมีประมาณ 10 คน เป็นพยาบาลไปแล้ว 7 คน หนูแหวกแนวจากทุกคนมาตลอด จริง ๆ เพื่อนที่เป็นพยาบาลก็ไม่ได้เรียนเพราะอยากเป็นอาชีพนี้กันทุกคน แต่ทำเพื่อให้พ่อแม่ดีใจ หนูเคยถามตัวเองว่ายอมทำสิ่งที่ไม่ชอบได้ไหมแล้วได้คำตอบว่า “หนูไม่ยอม” หนูคิดว่าการทำงานเหมือนการแต่งงานกับใครซักคน ถ้าเราแต่งงานกับคนที่เคมีไม่เข้ากันมันก็คงฝืนเกินไป เราทำไม่ได้

 

คำถาม: เล่าเรื่องสมัยเรียนให้ฟังหน่อย

 

แวว: จริง ๆ ตอนแรกหนูเรียนวิศวะมา (หัวเราะ) ตอน ม. ปลายแววเรียนสายวิทย์-คณิต เพราะคิดว่า “เรียนจบก็น่าจะหางานง่าย” และด้วยความที่เรียนสายวิทย์มา Option ในมหาลัยฯ มันก็เรียนได้อยู่ไม่กี่คณะหรอกค่ะ เช่น หมอ วิศวะ พยาบาล อะไรแบบนี้ แล้วส่วนตัวหนูไม่ชอบเลือด ก็เลยเรียนวิศวกรรมเคมี (ม.ศิลปากร จ. นครปฐม) เพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้โฟกัสหรือรู้สึกว่าตัวเองต้องการอะไร คิดแค่ว่า “เรียนก็ได้” แต่พอไปเรียนแล้วก็รู้สึกว่า “มันไม่ใช่ทางเราจริง ๆ”

 

ที่ศิลปากร ด้วยความที่เขาเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านศิลปะ เราก็ซึมซับกลิ่นอายของศิลปะมาตั้งแต่ตอนนั้นแม้ว่าเราจะเรียนวิศวะก็ตาม เรารู้สึกว่ามันมีอะไรน่าสนใจ แต่ว่าตอนนั้นยังไม่รู้ ยังไม่ค้นพบตัวเองแบบจัง ๆ เราเลยย้ายไปเรียนรัฐศาสตร์เพราะเรามองว่า “เป็นวิชาที่กว้างและน่าสนใจดี” ก็ยังรู้สึกว่ายังไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ ของเราซักเท่าไหร่ แต่ก็เรียนไปจนจบ

 

ถ้าให้พูดว่าค้นพบตัวเองเมื่อไหร่ ก็คงเป็นตอนที่เรียนอยู่รัฐศาสตร์นี่แหละค่ะ เพราะเป็นช่วงที่หนูหาอะไรทำเพื่อที่จะได้เงิน ก็เลยเข้าโครงการประกวดต่าง ๆ เช่น ประกวดหนังสั้น ประกวดดีไซน์ ทำโลโก้ต่าง ๆ ก็มีบางอันที่ชนะบ้าง ทำให้เราสนุกกับมันและเริ่มรู้สึกว่าสิ่งนี้มันใช่ แม้เราไม่ได้เรียนด้านนี้มาตรง ๆ แต่เรารู้สึกว่า “เราทำได้นะ” พอเรียนจบเราก็รู้ตัวว่าจะไม่เรียนต่อในสายรัฐศาสตร์แล้วและไปสมัครงานในบริษัทด้านกราฟิกดีไซน์ แต่ว่าตอนแรกทำตำแหน่งเกี่ยวกับด้านภาษา

 

ระหว่างที่ทำงานหนูก็ชอบที่จะเรียนรู้งานของคนอื่น (ที่ไม่ใช่งานของตัวเอง) เพื่อนที่นั่งข้าง ๆ ทำงานด้านออกแบบ ก็จะชอบดูเขาทำงาน ไปจ้องคอมเขา เราชอบไปถามเพื่อนว่า “อันนี้ทำยังไงเหรอ” “สอนหน่อยได้ไหม” หัวหน้าคงสังเกตเห็นเลยถามเราว่า “แววอยากเรียนหรือเปล่า เดี๋ยวให้อาจารย์ที่รู้จักกันมาช่วยสอน” นั่นเลยเป็นจุดที่แววได้เริ่มศึกษาจริง ๆ และได้ทำงานกราฟฟิกจริง ๆ จัง ๆ

 

Thirsty (ปราถนาอย่างแรงกล้า) Determined (มุ่งมั่น)

คำถาม: งานกราฟฟิกดึงดูดเรายังไง

 

แวว: โปรแกรมต่าง ๆ เป็นเพียงเครื่องมือ ส่วนสิ่งที่จะทำให้ออกแบบงานออกมาได้มันคือสมองเราสร้างสรรค์มันออกมา เพียงแต่สองมือเรายังทำได้ไม่มากเท่าที่จินตนาการของเราจะไปได้ ก็เลยต้องอาศัยเครื่องมือเหล่านี้มาช่วยทำงาน เรียกได้ว่า การทำงานกับเครื่องมือเหล่านี้เป็นการตอบรับจินตนาการที่อยากไปให้ไกลกว่าการใช้ปากกาหรือดินสอวาดบนกระดาษ ถ้าเรียนรู้โปรแกรมกราฟฟิกจะทำให้สามารถต่อยอดอะไรได้เยอะมาก ๆ …แต่โปรแกรมเหล่านี้มันก็ยากอยู่เหมือนกันนะคะ (หัวเราะ)

 

หนูก็ใช้ความมุ่งมั่นมากระดับหนึ่ง เพราะต้องเริ่มจากศูนย์เนื่องจากไม่ได้เรียนมาทางนี้

 

คำถาม: เนื่องจากเราเปลี่ยนสายบ่อย เรามีมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแบบนี้อย่างไร มีเสียดายเวลาบ้างไหม

 

แวว: คนอื่น ๆ รอบตัวของเราอาจจะมองว่ามันดูเหมือนเสียเวลา แต่หนูรู้สึกว่าไม่เสียเวลาเลย เพราะสิ่งที่ทำตอนนี้มันสามารถเอาทุกสิ่งที่เราเคยเรียนมามาใช้ได้ ตอนนี้องค์ความรู้ด้านฟิสิกส์ที่เคยเรียนสมัยวิศวะก็ถูกนำเอามาใช้ apply กับโปรแกรมแอฟเฟกต์ เช่น พวกแรงดึงดูด การคำนวนต่าง ๆ ทำให้การเรียนวิศวะในสมัยนั้นมีประโยชน์กับเรามากในตอนนี้ ส่วนรัฐศาสตร์หนูก็มองว่ามันเป็นการ apply พวก soft skill และการใช้ชีวิตในสังคม หนูก็เลยไม่เสียดายเลย

 

ตอนแรกหนูเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง แต่ไป ๆ มา ๆ ก็เริ่มรู้สึกว่า “ถ้าไม่ได้ลองมันก็ไม่มีโอกาสได้รู้เลย” อย่างตอนที่ได้รับโบรชัวร์ประกวดหนังสั้น ตอนนั้นก็คิดว่า “จะได้เหรอ” แต่พอลองทำดูก็พบว่าทำได้ มันยากแหละ มันยากมาก ๆ แต่ต้องเสี่ยง ต้องลองดู การมาทำงานนี้เหมือนกัน ตอนแรกที่ได้รับมอบหมายงานนี้ก็สงสัยว่าตัวเองจะทำได้ไหม แต่ด้วยความดื้อและความรั้นของเรา เราก็จะพยายามทำมันให้ได้ในที่สุด

 

คำถาม: เคยมีประสบการณ์ไปต่างประเทศมาก่อนไหม

 

แวว: หนูเคยไปแลกเปลี่ยนที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการไปต่างประเทศครั้งแรก และเรายังไม่ค่อยมีทักษะหรือรู้กฎอะไร เลยทำให้โดนค่าปรับในการทำผิดระเบียบและกระทบกับงบประมาณในการใช้ชีวิตของเรามาก ๆ ตอนนั้นเลยได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบที่ต้องประหยัดมาก จากเดิมนั่งรถไปมหาลัยก็ต้องเปลี่ยนมาเดินแทน และน้ำเปล่าซึ่งมีราคาแพง เรากับเพื่อนต้องเอาขวดเปล่าขนาด 1.5 ลิตร ใส่กระสอบแล้วแบกไปเติมน้ำที่มหาลัยเพื่อเอากลับมากินที่ที่พัก หรือเวลาอยู่ไทยเราไม่เคยตื่นเช้าเพื่อไปซื้อของสดราคาถูกที่ตลาด แต่ที่อินโดนีเซียเราก็ต้องไปแย่งชิงของสดมาทำกับข้าวกับเพื่อน ชีวิตตอนนั้นสมบุกสมบันมาก แต่มันสอนหนูให้สู้ชีวิต ประสบการณ์นี้ทำให้หนูมั่นใจมากว่าหนูจะเอาตัวรอดได้ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนบนโลก

 

คำถาม: ทำไมถึงอยากไปเรียนต่างประเทศ ทำไมไม่เรียนต่อในประเทศไทย

 

แวว: Industry ด้านกราฟฟิกในไทยยังไม่บูมเท่าไหร่ แววลองไปรีเสิชดูว่าที่ไหนดี ก็พบว่างานด้านกราฟฟิกกำลังเติบโตมาก ๆ ที่แคนาดา โดยเฉพาะที่เมือง Montreal แววคิดว่า ถ้าได้ไปเจอกับคนที่มีทักษะหรือ mindset คล้าย ๆ กัน และได้อยู่ในสภาพแววล้อมที่สนับสนุน จะทำให้เราสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้มาก และหนูเคยมีความฝันอยากไปเรียนต่อต่างประเทศอยู่แล้วด้วย แม้ที่บ้านไม่มีเงินก็เลยต้องพยายามขวนขวาย

 

Inquisitive – (ไขว่คว้าหาคำตอบ สร้างองค์ความรู้ ศึกษาเพิ่ม )

คำถาม: ปกติเราต้องทำอะไรที่ไม่เคยมาก่อน เราเอาชนะความกลัวได้ยังไง

 

แวว: ต้องศึกษามันมาก ๆ ความไม่มั่นใจส่วนหนึ่งมาจากการที่ “เรายังรู้มันไม่มากพอ” ถ้าถึงจุดที่เรารู้มากพอ และได้คุยสอบถามกับคนอื่น ๆ ใน Industry จะเพิ่มความมั่นใจให้เราได้ การที่เราอยู่ตัวคนเดียวเราก็จะไม่รู้ว่าโลกข้างนอกมันเป็นยังไง

 

อย่างที่แววส่ง port ไปเพื่อสมัครเรียนที่แคดานา ก็มีการระบุว่าต้องใช้โปรแกรมหนึ่งเท่านั้นในการสร้างผลงาน visual effect ซึ่งเราใช้ไม่เป็นเลย แต่ก็ต้องมาศึกษามันอย่างจริงจังในเวลาที่จำกัดด้วยการเรียนคอร์สออนไลน์ และมีคอร์สนึงที่คนสอนเป็นคนไทย หนูก็เลยไปสมัครเรียนและติดต่อพี่เขาไปทั้งที่ไม่รู้จักกัน แสดงเจตจำนงที่แน่วแน่ว่าหนูอยากไปเรียนที่นี่ ส่งงานไปให้เขาดูและขอให้พี่เขาช่วยติชมงานของหนู หนูก็ส่งไปให้เรื่อย ๆ ให้พี่เขาช่วยติช่วยสอนจนสร้างงานที่ทำให้สถาบันตอบรับเราเข้าเรียนได้ในที่สุด

 

สิ่งนี้เกิดกับเรามาตลอด ถ้าเราไม่รู้เราก็จะหาทางรู้ให้ได้ หาข้อมูล ศึกษาวิธีการ หาคนที่มีความรู้ให้ช่วยสอน ขอคำแนะนำ และโชคดีที่เจอคนใจดีมาตลอดที่เห็นความตั้งใจของเราและสนับสนุน

 

คำถาม: แววมองอนาคตตัวเองยังไง

 

แวว: หลังเรียนจบก็อยากจะโยนตัวเองเข้าไปใน Industry นี้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำงานที่สตูดิโอที่นั่น แววชอบการเติบโตของอุตสาหกรรม Visual Effects ที่แคนาดา งานด้าน Visual Effect แตกไปหลายแขนงเหมือนกัน แต่หลัก ๆ จะมีงานหนังกับโฆษณา ซึ่งหนูชอบทั้งสองแบบและไม่ได้ปิดกั้นว่าต้องไปด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ

 

เอาจริง ๆ แล้วหนูไม่ได้ซีเรียสว่าต้องทำงานอยู่ประเทศไหน แต่ที่ซีเรียสคืออยากอยู่ในองค์กรที่เห็นศักยภาพของเราจริง ๆ อาจจะทำงาน online หรือ onsite ที่ไหนก็ได้ แต่ว่าอยากอยู่ในที่ ๆ เราเติบโตได้และเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้ได้มาก ๆ

 

คำถาม: ตอนนี้เรามีความตั้งใจมุ่งมั่นมาก แต่ถ้าเรียนจบแล้วมันไม่ได้เป็นเหมือนฝัน ไม่ประสบความสำเร็จ เราจะยังไงต่อ

 

แวว: เคยมีอารมณ์แบบนี้อยู่เหมือนกันตอนที่เรียนมหาลัยแล้วเพื่อน ๆ คนอื่นกำลังเดินไปข้างหน้า ส่วนเรายังมานั่งอ่านหนังสืออยู่เลย เราก็เคยคิดว่า “เรากำลังเดินถอยหลังอยู่หรือเปล่านะ” และด้วยความคาดหวังจากครอบครัวด้วยที่ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนสายจากวิศวะฯ มาเป็นรัฐศาสตร์ หรือตอนเรียนรัฐศาสตร์ที่เราเรียนจบได้เกรดดีแล้วอยู่ ๆ ก็มาทำงานด้านกราฟฟิก เพื่อน ๆ ที่มหาลัยก็มองเราแบบ “เธอทำอะไรอยู่นะ?” เราก็พบเจอโมเม้นแบบนี้มาเยอะเหมือนกัน และไม่ได้มองว่ามันคือ “การไม่ประสบความสำเร็จ” แต่เส้นทางที่เดินมามันคือการเข้าใกล้อะไรซักอย่างหนึ่ง เส้นทางของเราแค่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ สิ่งที่คนอื่นมองว่าเราล้มเหลวมันทำให้เราเป็นเราในปัจจุบันนี้ 

 

คำถาม: ตอนนี้ทางบ้านเป็นยังไงบ้าง

 

แวว: ตอนนี้เค้าก็เข้าใจมากขึ้น คงเห็นความตั้งใจและมุ่งมั่นของเรา โปรแกรมเราก็เรียนใหม่ ภาษาเราก็จะเรียนใหม่ ภาษาที่เราต้องเรียนเพิ่มไม่ใช่แค่ภาษาฝรั่งเศส แต่รวมถึงภาษาคอมพิวเตอร์ด้วย ถ้าจะใช้โปรแกรมให้ได้ยอดเยี่ยมเราต้องสื่อสารกับมันให้ได้ในภาษาของมัน แต่แววทำได้แหละ เราตั้งใจจะทำให้ได้

 

คำถาม: โครงการของเราชื่อ Break Your Boundary ขอถามว่า “อะไรคือ Boundary ของแวว” คะ

 

แวว: ข้อจำกัดของแววคือ “เรื่องเงิน” ค่ะ ก่อนที่จะมาเจอโครงการของมูลนิธิมาทิลดาก็มีแผนที่จะไปเรียนต่ออยู่แล้วเพื่อพัฒนาตัวเองจริง ๆ และเคยไปพูดคุยกับธนาคารซึ่งมีโครงการให้กู้เงินเพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ พบว่ามีเงื่อนไขเยอะเหมือนกันและดอกเบี้ยค่อนข้างสูง แต่ก่อนที่จะได้ดำเนินการกู้เงินก็ได้มาเจอกับมาทิลดา ก็เลยได้มาสมัครในโครงการ BYB ค่ะ

 

คำถาม: อะไรทำให้แววสนใจโครงการ BYB

 

แวว: ทุนส่วนใหญ่ต้องมี background การศึกษาตรงกับสิ่งที่เราจะไปเรียน แต่การศึกษาของหนูไม่ตรง หนูพยายามหาทุนแล้วแต่มันไม่มี ดังนั้นโครงการเลยเปิดโอกาสให้คนที่เรียนมาแปลก ๆ แบบหนูมาก ตอนจะสมัครหนูก็ไปศึกษาว่ามูลนิธิฯ มีที่มาอย่างไร และดูว่าเรามีความสอดคล้องกับสิ่งที่มูลนิธิฯ ต้องการไหม และปกติแววชอบเขียนอยู่แล้ว ก็เลยตั้งใจเขียนใบสมัครด้วยการให้ข้อมูลมูลนิธิเยอะ ๆ สังเกตได้ว่า ใบสมัครของหนูจะมี Citation เยอะไปหมด ส่วนการประเมินค่าใช้จ่าย แววก็ไปสอบถามคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจริง ๆ ว่า ค่าครองชีพมันเป็นอย่างไรและหาข้อมูลออนไลน์เองประกอบด้วย

 

ส่วนการชำระเงินคืน แววเสนอ 3 ทางเลือกให้กับมูลนิธิฯ ทั้งในกรณีที่ทำงานต่างประเทศและในกรณีที่กลับมาทำงานที่ประเทศไทยเนื่องจากรายได้จะแตกต่างกัน ปกติแววจะมีแบ่งเงินไว้เป็น % ของเงินเดือนเพื่อเป็นเงินเก็บอยู่แล้ว เราเลยลองประเมินดูว่าเราจะต้องใช้เงินในการครองชีพเท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้ และจัดสรรเป็น % เพื่อใช้คืนให้กับทางมูลนิธิฯ

 

คำถาม: คิดยังไงกับ Requirement ของมูลนิธิมาทิลดาที่ต้องการในการสมัคร หลายคนมองว่าต้องการข้อมูลเยอะ เตรียมตัวยาก แววมองยังไง

 

แวว: ตอนแรกที่แววเห็นก็รู้สึกว่าท้าทายดีและเป็นโอกาส เพราะไม่เคยเห็นโอกาสแบบนี้มาก่อนในการเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อเราเจอแล้วเราก็พุ่งชนเลย เตรียมเอกสารทุกอย่างและตั้งให้วางแผนข้อเสนอให้กับมูลนิธิฯ

 

ด้วยความที่เราอยากได้จริง ๆ เลยพยายามขวนขวาย ซ้อมสัมภาษณ์กับเพื่อนทุกวัน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หนูก็เตรียมตัวมาเต็มที่ เราจะปล่อยไปได้ยังไง ปล่อยไปไม่ได้ จักรวาลมอบโอกาสให้เราแล้ว

 

คำถาม: เราไปเรียนคอร์สระยะสั้นแค่ 10 เดือน แววคิดว่า 10 เดือนนี้เปลี่ยนชีวิตเราได้ไหม

 

แวว: เปลี่ยนได้ค่ะ ตัวเองไม่เคยคิดว่าจะได้รับโอกาสในการไปเรียนสิ่งที่เราชอบในต่างประเทศ ดังนั้นโอกาสนี้มันยิ่งใหญ่มากสำหรับแวว แค่นี้ชีวิตก็เปลี่ยนแล้ว และเมื่อมีโอกาสแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะโอกาสแบบนี้มันไม่ได้มีบ่อย ๆ

 

Waew - Break Your Boundary Recipient in 2023
Waew - Break Your Boundary Recipient in 2023

จะสังเกตได้ว่าทุกช่วงชีวิตของแววมีการไขว่คว้าหาความรู้เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสเสมอ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญที่มูลนิธิมาทิลดามองหา และการเรียนรู้สำหรับแววไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แววหาความรู้ได้จากทุกช่องทาง เมื่อคุณสมบัตินี้ประกอบเข้ากับการรู้จักตัวเองว่าต้องการอะไร มีความปราถนาในสิ่งที่ต้องการเพียงพอ มีความมุ่งมั่นที่จะเดินไปสู่เป้าหมาย และมีความรับผิดชอบที่จะพาตัวเองไปให้ถึงให้ได้ ทำให้มูลนิธิมาทิลดามั่นใจว่า ความเป็น “มาทิลดา” ในตัวแววมีเพียงพอที่จะสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ได้

 

ที่ผ่านมาแววก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่า แววไม่ได้เพียงแค่ “ลองทำดูเล่น ๆ” แต่แวว “เอาจริง” และ “ทำจริง” มาเสมอ

 

ลุยเลยค่ะแวว

 

เป็นจริงอย่างที่แววบอก

 

“จักรวาลมอบโอกาสให้แววแล้ว”

189 views0 comments

Comments


bottom of page